โตโยต้าผวาพิษ‘เคส’ป่วน ครั้งแรกในรอบศตวรรษ

รายงานข่าวจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย ผศ.ดร.ภาณุทัต บุญประมุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายศุภชัย สินสุวรรณรักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์ โตโยต้า และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการดำเนินโครงการ พัฒนาบุคลากรเชี่ยวชาญเทคโนโลยียานยนต์ โมบิลิตี้ เทคโนโลจิสต์ (Mobility Technologist) เพื่อสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยียานยนต์และแนวคิดการบริหารการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ กล่าวว่า วิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้า เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี 2541 สำหรับนักศึกษาระดับ ปวส. ในสาขาเทคนิคยานยนต์ สาขาธุรกิจการบริการยานยนต์ และสาขาเทคนิคซ่อมตัวถังและสีรถยนต์ เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพให้กับศูนย์บริการของผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ ฝึกสอนให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์ของโตโยต้า เสริมด้วยความรู้ด้านการบริหารจัดการแบบโตโยต้า เพื่อให้มีทักษะกระบวนความคิดและการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีนักศึกษาจบจากวิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้ารวมทั้งสิ้นกว่า 3,700 คน สร้างบุคลากรสายอาชีพช่างเทคนิคยานยนต์จำนวนมากให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย

มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ กล่าวว่า ในอีกด้านหนึ่ง โตโยต้าเองก็กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า เคส (CASE) ถือว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ คำว่า เคส นั้นย่อมาจากคอนเน็กต์ (Connected) หรือการเชื่อมต่อ ออโตโนมัส (Autonomous) หรืออิสระ แชริ่ง (Sharing) หรือการแบ่งปัน และอีเล็กทริฟิเคชั่น (Electrification) หรือพลังงานไฟฟ้า จะก่อให้เกิดการปฏิวัติธุรกิจยานยนต์ควบคู่ไปกับการที่ผู้แข่งขันรายใหม่ๆ จะมีความได้เปรียบจากบรรดาเทคโนโลยีเหล่านั้น ในการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายนี้ โตโยต้าจึงพยายามพัฒนาตัวเองให้เป็นมากกว่าบริษัทผลิตรถยนต์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทแห่งการขับเคลื่อน

มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญเพื่อสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายเหล่านี้ได้ ประกอบกับการรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้นักศึกษาในสาขาด้านเทคโนโลยีก้าวสู่การสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น เราจึงสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะการทำงานสูงขึ้น นำมาสู่ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้าและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อพัฒนาหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเทคโนโลยียานยนต์ภายใต้ชื่อโครงการ พัฒนาบุคลากรเชี่ยวชาญเทคโนโลยียานยนต์ โมบิลิตี้ เทคโนโลจิสต์ (Mobility Technologist) เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยียานยนต์เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ทางวิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะทางเทคนิค ความสามารถในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง เน้นการทำงานอย่างเป็นทีมเวิร์กและให้เกียรติเพื่อนร่วมงานทุกคน

Advertisement

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้าและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จะร่วมกันพัฒนาและแลกเปลี่ยนข้อมูล การจัดทำภาควิชาในหลักสูตรเฉพาะทางเพื่อผลิตวิศวกรระดับปริญญาตรีที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านรถยนต์โตโยต้า โดยมีคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์แบบ ออล อิน วัน เอ็นจิเนียริ่ง (All in one Engineer) ได้แก่ การเป็นวิศวกร ช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญ และเป็นผู้บริหารด้านเทคโนโลยียานยนต์

สำหรับโครงสร้างหลักสูตรภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรเชี่ยวชาญเทคโนโลยียานยนต์ โมบิลิตี้ เทคโนโลจิสต์ จะมีระยะเวลาในการศึกษาตลอดหลักสูตร 4 ปี รวมทั้งสิ้น 142 หน่วยกิต ระยะเวลาการเรียนช่วง 2 ปีแรก จะดำเนินการเรียนการสอน ณ วิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้า จำนวน 56 หน่วยกิต เนื้อหารายวิชาสอดคล้องตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมเสริมด้วยวิชาความรู้ด้านระบบเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้า

ในส่วนของระยะเวลาการเรียนในช่วง 2 ปีหลัง จะดำเนินการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 63 หน่วยกิต มีเนื้อหารายวิชาสอดคล้องตามมาตรฐานหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงรายวิชาด้านระบบไฟฟ้า ระบบเอไอ (AI-Artificial Intelligence) และระบบไอซีที (ICT-Information Connected Technology) ควบคู่ไปกับการดำเนินการเรียนการสอนที่สถาบันเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้า จำนวน 23 หน่วยกิต มีเนื้อหารายวิชาด้านหลักการวิเคราะห์ปัญหาเทคนิค (Technical Problem Analysis) หลักการวิเคราะห์ปัญหาด้านเสียง การสั่นสะเทือน ความผิดปกติของรถยนต์ (Noise Vibration Harshness) เรียนรู้การทดสอบสมรรถนะของรถยนต์ (Vehicle Evaluation) หลักการบริหารจัดการแบบโตโยต้า (Toyota Way, Toyota Production System, Toyota Best Practice) ตลอดจนการฝึกปฏิบัติงานจริงในฝ่ายบริการด้านเทคนิค (Technical Service) ฝ่ายประกันคุณภาพ (Quality Control) และฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด อีกด้วย โดยหลักสูตรภายใต้โครงการนี้ จะเริ่มดำเนินการเรียนการสอนในเดือนสิงหาคม 2562 เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image