‘สภาพัฒน์’แถลง ‘จีดีพี’ ไตรมาส 1/62

หมายเหตุเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือสภาพัฒน์) นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2562 และแนวโน้มปี 2562 โดยมีการปรับตัวเลขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 รวมทั้งประเมินปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปี

เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2562 เติบโต 2.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและเติบโต 1.0% เทียบกับช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2461 ที่เติบโต 3.6% โดยจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นการเติบโตต่ำสุดรอบ 17 ไตรมาส นับจากไตรมาสที่ 1 ปี 2558 เป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศ การส่งออกที่ติดลบ 3.6% มูลค่า 6.02 หมื่นล้านบาท ปรับลดลงในรอบ 11 ไตรมาส นับจากไตรมาสที่ 3 ปี 2559 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลางปรับตัวลดลง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ขยายตัว กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำตาล รถยนต์นั่ง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องจักรและอุปกรณ์ และกุ้ง ปู กั้งและล็อบสเตอร์ เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น รถกระบะและรถบรรทุก คอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

เมื่อคิดในรูปของเงินบาทมูลค่าการส่งออกสินค้าติดลบ 3.3% ส่วนการนำเข้าสินค้าติดลบ 2.9% มีมูลค่า 5.33 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกเช่นเดียวกับการผลิตอุตสาหกรรมเติบโต 0.6% ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขณะที่ไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.80 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.8% ชะลอตัวลงจากการ 4.3% ในไตรมาส 4 ปี 2561 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 5.73 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูง ประกอบด้วย อินเดีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ แต่รายรับจากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปลดลง

ด้านในประเทศการบริโภคภาคเอกชนเติบโตสูง 4.6% ต่อเนื่องจาก 5.4% ในไตรมาส 4 ปี 2561 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานรายได้และการจ้างงานที่ขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยในไตรมาสนี้การใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเติบโต 12.3%

Advertisement

ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 68.1 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเติบโต 3.3% อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ 22.3% การลงทุนรวมเพิ่มขึ้น 3.2% เทียบกับ 4.2 ในไตรมาส 4 ปี 2561 และการลงทุนภาคเอกชนเติบโต 4.4% ต่อเนื่องจาก 5.5% ในไตรมาส 4 ปี 2561 ในเครื่องมือเครื่องจักร และการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง ส่วนการลงทุนภาครัฐติดลบ 0.1% เท่ากับไตรมาส 4 ปี 2561 โดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจติดลบ 1.4% ในขณะที่การลงทุนของรัฐบาลเติบโต 0.6% อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 15.5%

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 10.9% ของจีดีพี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 2.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6.90 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.3% ของจีดีพี

Advertisement

สําหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2562 คาดว่าจะเติบโต 3.6% ในกรอบประมาณการ 3.3-3.8% โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีปัจจัยสนับสนุนจากฐานรายได้ที่ขยายตัวต่อเนื่อง อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ด้านการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยต่อการขยายการลงทุน การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการอนุมัติโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน การย้ายฐานการผลิตภายใต้การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ และด้านอุปสงค์ภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นทั้งการใช้จ่ายและการลงทุน

ส่วนแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการปรับตัวลดลงของสินค้าคงคลังในประเทศเศรษฐกิจหลัก การผ่อนคลายลงของปัญหาการขาดแคลนหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ในตลาดโลก และการปรับตัวของทิศทางการค้าที่คาดว่าจะชัดเจนมากขึ้นตามแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้ง แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และฐานการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำในครึ่งหลังของปี

คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะเติบโต 2.2% การบริโภคภาคเอกชน 4.2% และการลงทุนรวม 4.5% ตามลำดับ โดยการลงทุนรวมที่ 4.5% คาดว่าการลงทุนภาครัฐเติบโต 4.5% ตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของภาครัฐ และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะเติบโต 4.5% จากความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่อยู่ในเกณฑ์สูง การปรับตัวเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2560-2561 และแนวโน้มการเปลี่ยนทิศทางการค้าการลงทุนที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า

ภาคการท่องเที่ยว คาดว่าการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) การขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa OnArrival) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และมาเลเซีย แนวโน้มการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนจากการเดินทางท่องเที่ยวระยะไกลเป็นการเดินทางระยะใกล้มากขึ้น และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.7-1.2% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.9% ของจีดีพี

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง จากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงและอาจส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์โดยมีสถานการณ์ที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย

1.การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่มีต่อจีน และประเทศอื่นๆ ที่อาจมีเพิ่มเติม เช่น การดำเนินการตามมาตรา 232 และการขึ้นบัญชีตรวจสอบและดำเนินมาตรการตอบโต้กับประเทศผู้แทรกแซงค่าเงิน รวมทั้งมาตรการตอบโต้ของจีนที่อาจขยายขอบเขตมากขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

2.ความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท)

3.เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุโรปโดยเฉพาะผลการเลือกตั้งสภายุโรปในวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2562 และสถานการณ์ด้านการคลังและทิศทางนโยบายของรัฐบาลอิตาลี

4.การชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนที่อาจถูกซ้ำเติมโดยมาตรการกีดกันทางการค้า และทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวแรงและเร็วกว่าการคาดการณ์

5.การเจรจาแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ และการกำหนดกรอบงบประมาณประจำปี 2563

6.ความผันผวนในตลาดการเงินที่เกิดจากการคาดการณ์และการปรับตัวของนักลงทุนต่อทิศทางนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ และ 7.ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญๆ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน กรณีสงครามในเยเมน และปัญหาการเมืองในประเทศเวเนซุเอลา

อีกประเด็นคือ บรรยากาศทางการเมือง กระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และทิศทางนโยบายหลังการจัดตั้งรัฐบาล

แม้ว่าในกรณีฐานคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปอย่างราบรื่น ในขณะที่กระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จะแล้วเสร็จและประกาศใช้หลังสิ้นปีงบประมาณ 2562 ประมาณ 2-4 เดือน และการขับเคลื่อนนโยบายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องก็ตาม

แต่เงื่อนไขบรรยากาศทางการเมืองในช่วงการจัดตั้งและหลังจัดตั้งรัฐบาล ทิศทางนโยบายหลังการเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว ในขณะที่กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และการอนุมัติโครงการลงทุนอาจมีความล่าช้ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image