คิดเห็นแชร์ : Value Morghulis

สําหรับผู้อ่านที่ติดตามภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง Game of Thrones คงคุ้นกับคำว่า Valar Morghulis ภาษาวาเลเรียนที่แปลว่า All Men Must Die เป็นอย่างดี

ประโยคนี้เตือนให้ระลึกไว้เสมอว่า “ไม่มีอะไรหนีความตายพ้น” และล่าสุด การลงทุนเน้นคุณค่า หรือ Value Investing ที่ครั้งหนึ่งถูกยกให้เป็นถึงเทคนิคการลงทุนในตำนาน ก็อาจต้องบอกลาโลกการเงินในไม่ช้าเช่นกัน

การตายในที่นี้ผมหมายถึงการปรับเปลี่ยน เมื่อนักลงทุนทั่วตลาด “เปลี่ยน” วิธีคิด เทคนิคการลงทุนก็จะถูก “ปรับ” อย่างไม่มีทางย้อนกลับ

และล่าสุดคนที่ปรับเปลี่ยน Value Investing ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเจ้าแห่งการลงทุนอย่าง “วอร์เรน บัฟเฟต” ที่ออกมายอมรับว่าทีมการลงทุนของเขา ได้ตัดสินใจเข้าถือหุ้น Amazon บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐไปเป็นที่เรียบร้อย

Advertisement

ที่ผมมองเรื่องนี้เป็น “การปรับใหญ่” ไม่ใช่เพราะ Amazon กลายเป็นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า แต่กลับกัน Amazon แทบจะทลายทุกกฎการลงทุนเน้นคุณค่าเดิมๆ ทั้งหมด

Amazon ไม่เคยเป็น “หุ้นมูลค่า” เมื่อเทียบกับพื้นฐาน หรือการทำกำไร และไม่มีทางที่นักลงทุนจะกล้าตอบว่า “เข้าใจ” ธุรกิจของ Amazon ซึ่งต่างจากหลักการพื้นฐานของ Value Investor ที่เรารู้จัก

เกิดเป็นคำถามว่าแม้แต่การลงทุนเน้นคุณค่าก็ถึงเวลาต้องปรับตัวแล้วหรือ และต้องปรับอย่างไร ถึงจะเป็นคำตอบของการลงทุนในอนาคต ซึ่งผมมองว่ามีหลากหลายประเด็นที่เราควรเรียนรู้จากการปรับตัวครั้งนี้

Advertisement

สิ่งแรกคือ ไม่มีอะไรเป็นมูลค่าที่ถาวร ทุกสิ่งปรับเปลี่ยนตามวัฏจักรของตลาด

บริบทของโลกการเงินชี้ว่า ปัจจุบันยังเป็นช่วงที่หุ้นกลุ่มเติบโตสูง (Growth) ทำได้ดีกว่ากลุ่มเน้นคุณค่า (Value)

ที่ผมมองแบบนี้ มาจากพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 นโยบายการเงินทั่วโลกอยู่ในภาวะผ่อนคลาย สภาพคล่องทั่วโลกก็สูงขึ้นเรื่อยๆ แทบไม่มีใครที่จะต้องการสินทรัพย์ “ราคาถูก” ขณะที่เศรษฐกิจกลับขยายตัวต่ำ “การเติบโตสูง” กลายเป็นของหายาก

เปรียบเทียบจากดัชนี MSCI Value กับ Growth จะพบว่า Value ทำผลงานได้ดีกว่า Growth ในปี 1975 จนถึงปี 2006 แต่หลังจากที่นโยบายการเงินผ่อนคลายตั้งแต่ในปี 2008 พร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ลดตัวลงจาก 5.0% โดยเฉลี่ยมาอยู่ที่ระดับ 3.5% ผลตอบแทนของกลุ่ม Growth ก็กลับมาชนะ Value คืนได้ทั้งหมด และในอนาคตก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน

ประเด็นต่อมา ต้องปรับทัศนคติและยอมรับว่า Growth ไม่ต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ Value

ผมเชื่อว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายท่านสับสน

แท้จริงแล้ว Growth ไม่ได้หมายความว่าจะต้องแพง และ Value ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเติบโตต่ำ นักลงทุนไม่ควรยึดติดเพียงแค่ราคา รายได้ หรือระดับการเติบโต แต่ควรวิเคราะห์ถึงปัจจัย (Factor) ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุน

เช่นในงานวิจัยเรื่อง Buffet’s Alpha ที่เขียนโดย อังเดร ฟราซินี่ และทีมงานในปี 2018 ก็ระบุว่า ความสำเร็จที่แท้จริงของบัฟเฟต ไม่ได้มาจากแค่การไล่ซื้อของถูก หรือบริษัทที่คุ้นเคย แต่มาจากการซื้อสินทรัพย์ที่คุณภาพสูง (High Quality) และมีความเชื่อมโยงกับตลาดต่ำ (Low Beta)

ดังนั้นการปรับพอร์ตของบัฟเฟตในปัจจุบัน อาจแค่กำลังบอกเราว่ากลุ่ม Growth เริ่มแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของการทำกำไรที่ยั่งยืน เช่นเดียวกับที่เราเห็นจากกลุ่ม Value แล้วก็เป็นได้

และสุดท้าย ต้องปรับแนวคิดเรื่อง “คุณค่า” ที่อาจไม่ใช่แค่ “ราคา” แต่เป็นสิ่งที่ตลาด “ยอมจ่าย”

ล่าสุดในงานวิจัยเรื่อง What the market pays for ของ Goldman Sachs Global Markets Institute ทำการวิเคราะห์เพื่อหาว่าอะไรคือ “คุณค่า” ที่นักลงทุนยอมจ่าย และพบว่ามีสามประเด็นหลักที่ตลาด “ให้ราคา” นั่นคือ การทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ การแยกประเภทรายได้ชัดเจน และความละเอียดในการอธิบายการลงทุนและการหาเงินในอนาคต

ผมมองว่าทั้งหมดนี้ เกิดจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เทคโนโลยีและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แค่คำว่า Value หรือ Growth อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ของตลาด

สามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่า ไม่ใช่แค่ Value Investor ที่ถูกปรับ ทุกเทคนิคการลงทุนที่มองหาคุณค่าของสินทรัพย์ ก็ควรเพิ่มมุมมอง Quality นี้ลงไปด้วย

และไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าการปรับตัวของกูรูการลงทุนเน้นคุณค่าอย่างบัฟเฟต คือการส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนทุกคนว่า “โลกการเงินไม่เคยหยุดนิ่ง” นับวันยิ่งจะเปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ดีงามในอดีต อาจไม่ใช่มูลค่าในปัจจุบัน ในอนาคตสิ่งที่แน่นอนก็คือทุกอย่าง “มีเกิดต้องมีดับ”

เมื่อนักลงทุนระดับเทพยังต้องเปลี่ยนแปลง เปิดใจรับสิ่งที่ตัวเองไม่เคยสนใจ จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องเรียนรู้ และปรับตัวให้ทันเช่นกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image