‘พณ.’ มั่นใจเทรดวอร์ไม่กระทบส่งออกข้าวไทย

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในฐานะประธานการประชุมข้าวนานาชาติครั้งที่ 9 หรือ Thailand Rice Convention 2019 : TRC 2019 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ (คต) และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2562 ว่า แนวโน้มส่งออกข้าวไทยครึ่งปีหลังของปี 2562 ภาพรวมหลังจากที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายในการส่งออกข้าวในปีนี้ไว้ที่ 10 ล้านตัน และเชื่อว่าทำได้แน่นอน ถึงแม้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกข้าวอาจจะลดลงเล็กน้อย ซึ่งมีปัจจัยในเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดไม่ได้ลดลงมากนัก ถึงแม้ปริมาณจะลดลงบ้างก็ตาม รวมทั้งความต้องการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตาม 10 ล้านตันก็เป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) มองว่าไม่ได้มีผลกระทบกับการส่งออกข้าวไทย เนื่องจากข้าวเป็นสิ่งที่ต้องมีการบริโภคอยู่แล้วในประเทศที่มีการบริโภคข้าวเป็นประจำ ทำให้ไม่สามารถหลักเลี่ยงไปบริโภคอย่างอื่นได้ ถึงแม้จะเป็นอาหารอย่างอื่นก็เป็นอาหารที่ทำมาจากข้าวอยู่ดี

นายบุณยฤทธิ์ มูลค่าการส่งออกข้าวไทยหากเทียบกับปี 2561 น่าจะมูลค่าที่ใกล้เคียงกัน อยู่ที่ประมาณ 180,000 ล้านบาท ถึงแม้ปริมาณอาจจะลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าไม่ได้ลดลงมากนัก ในข้าวบางชนิดกลับมามูลค่าเพิ่มขึ้น ด้วยความที่ค่าเงินบาทแข็งทำให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น แต่ก็สร้างผลกระทบทำให้การส่งออกข้าวมีปริมาณลดลง เพราะถูกเปรียบเทียบกับราคาของข้าวในประเทศคู่แข่ง แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าเป้าหมายการส่งออกข้าวที่ 10 ล้านตันเป็นไปได้อย่างแน่นอน ถึงแม้ภาคเอกชนจะมองว่าปีนี้ส่งออกได้ดีที่สุดเพียง 9.5 ล้านตันก็ตาม เพราะจากการที่ได้พูดคุยกับเกษตรกรพบว่า ปีนี้ข้าวไทยมีราคาที่ดี เกษตรกระส่วนใหญ่ก็มีความพึงพอใจกับราคาข้าวในช่วงนี้ ในส่วนของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงานต่อเชื่อไม่ว่าใครจะเข้ามา ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องข้าว เพราะเป็นสินค้าเกษตรหลักสำคัญของประเทศ รวมถึงรัฐบาลที่ผ่านมาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องข้าวมาโดยตลอด ซึ่งในขณะนี้มีพี่น้องเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวอยู่กว่า 4 ล้านครัวเรือน มีมูลค่าส่งออกต่อปีมากกว่า 10 ล้านตัน จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมีการกระตุ้นการจำหน่ายข้าว ซึ่งถือเป็นปกติของกรามการค้าต่างประเทศ (คต.) ที่จะจัดคณะผู้แทนทางการค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อดำเนินการเจรจาการค้ากับประเทศพันธมิตรที่เป็นคู่ค้าสำคัญ เพื่อให้เกิดการขยายตลาดออกไปเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังได้สนับสนุนภาคเอกชนให้ออกหาตลาดเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆ ในหลายประเทศ สำหรับผลผลิตทางการเกษตรนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยธรรมชาติ ทำให้ในปีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ ปรากฏการณ์เอลนินโย่ ก็ทำให้หลายประเทศที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิตข้าวในตลาดโลกลดน้อยลง แต่ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนินโย่ค่อนข้างน้อย ทำให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยดังกล่าว

“ประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบก็มักจะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อนำไปบริโภคในประเทศแทน ส่วนไทยถึงแม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนินโย่ แต่ก็มักได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปี ทำให้หลังจากนี้จะมีการบริหารจัดการข้าวไทย ด้วยการทำให้ปริมาณผลิตออกมาไม่มากเกินความต้องการของตลาด และไม่น้อยจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในด้านของราคาเกิดขึ้นต่อไป โดยในขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าเกษตร และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการมากขึ้น ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศมีสถาบันที่สร้างนวัตกรรมสินค้าเกษตรขึ้นมาโดยเฉพาะ และจะมีแผนดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีกี่เปอร์เซ็นต์แต่จะพยายามทำให้มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายบุณยฤทธิ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image