คิดเห็นแชร์ : ‘ไบโอฮับ’จุดเปลี่ยนคลื่นเศรษฐกิจลูกใหม่

สวัสดีครับ FC คิด เห็น แชร์ ทุกท่าน วันนี้ขอแชร์เรื่องที่ยังคงคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับภาคการผลิตที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมต่อจากเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้แชร์ให้ทุกท่านอ่านไปแล้วในครั้งก่อนนะครับ

ณ วันนี้ เมื่อเอ่ยถึง อุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ อุตสาหกรรมไบโอ ผมเชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูบ้างไม่มากก็น้อย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการเกษตรและสร้างรายได้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นกระแสฮอตฮิตที่อยู่ในความสนใจของนานาประเทศ ขณะที่บ้านเราเองก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้มานานแล้วเช่นกัน เพียงแต่อาจจะคุยกันในวงจำกัดเฉพาะกลุ่ม กระทั่งเมื่อปี 2558 รัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวภาพ รวมอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) หรืออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) ทำให้ทุกวันนี้หันไปทางไหน   ก็จะได้ยินคำว่า “ไบโอ” เต็มไปหมด

จุดสตาร์ตของเรื่องที่จะแชร์ในครั้งนี้ เริ่มต้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561-2570 มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาค หรือ “ไบโอฮับของอาเซียน” (Bio Hub of ASEAN) ถือเป็นความพยายามในการสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจไทย จากการแปรรูปสินค้าเกษตรแบบเดิมที่มีมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่การแปรรูปด้วยเทคโนโลยีชีวภาพที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอีกหลายเท่าตัว โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักภาครัฐ ได้เร่งปรับแก้กฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างคล่องตัว อาทิ การนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ การตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ โดยปรับเงื่อนไขให้เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น และการเพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังในการกำหนดมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินค้าไบโอพลาสติกเพิ่มขึ้น

สำหรับภาคเอกชน ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไบโอของประเทศ ต่างก็มีความคืบหน้าแล้ว โดยขณะนี้มีการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว 9,740 ล้านบาท ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ทำการผลิตน้ำยาล้างไต ไบโอพลาสติก และเมทิลเอสเทอร์ ซึ่งหากภาครัฐปลดล็อกกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงงานได้แล้ว ภาคเอกชนจะสามารถเดินเครื่อง “โครงการไบโอรีไฟเนอรีคอมเพล็กซ์” (Biorefinery Complex) เพื่อผลิตไบโอเคมี (Biochemicals) ใน จ.นครสวรรค์ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 41,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 และเมื่อสิ้นสุดระยะดำเนินการ ในปี 2570 คาดว่าจะเกิดการลงทุนภายในประเทศเกือบ 200,000 ล้านบาท โดยจะผลิตสินค้าไบโอต่างๆ ตั้งแต่ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี จนถึงไบโอฟาร์มา (Biopharma) เช่น ยาชีววัตถุ วัคซีนขั้นสูง

Advertisement

ความฮอตของอุตสาหกรรมไบโอยังไม่หมดเท่านี้ จะเห็นได้จากผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยโครงการที่มีแผนการลงทุนชัดเจน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว คือ “โครงการ  ไบโอฮับเอเชีย” และ “โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทค ซิตี้” ใน จ.ฉะเชิงเทรา และ “โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์” ใน จ.ลพบุรี มีเม็ดเงินลงทุนรวม 94,500 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการเหล่านี้ดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยสร้างไบโอฮับในพื้นที่ศักยภาพใหม่ของประเทศ เพิ่มเติมจากพื้นที่เดิม คือ อีอีซี (จ.ระยอง) ภาคเหนือตอนล่าง (จ.กำแพงเพชร และ จ.นครสวรรค์) และภาคอีสานตอนกลาง (จ.ขอนแก่น)

สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากให้ทุกท่านมองอุตสาหกรรมไบโอว่าเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรและชุมชน มากกว่าการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งการบ้านสำคัญที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันหาคำตอบให้กระจ่าง คือจะทำอย่างไรให้โรงงานไบโอสามารถเติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงการเปลี่ยนมุมคิดและสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอจะช่วยดึงดูดการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาล และจะนำมาซึ่งแต่สิ่งดีๆ ให้กับชุมชน

แม้การผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็น “ไบโอฮับของอาเซียน” จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากของประเทศ เนื่องจากการพัฒนาอะไรซักอย่างให้สำเร็จบริบูรณ์คงไม่อาจทำได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่หากทุกฝ่ายรวมพลังร่วมด้วยช่วยกัน และเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ผมมั่นใจว่าเราสามารถไปถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก และเมื่อถึงวันนั้นระบบเศรษฐกิจของประเทศจะยกระดับอีกขั้นไปสู่ “เศรษฐกิจชีวภาพ” หรือไบโออีโคโนมี (Bioeconomy) อย่างแน่นอนครับ

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image