‘ไทยเศรษฐกิจฯ’ ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ไฟเขียวเพิ่มทุน

นางสาวอรลดา เผ่าวิบูล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TSI Insurance เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของบริษัท ภายหลังการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรทั้งผู้ถือหุ้นและการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยการลงทุนในระบบ Core Insurance ใหม่ เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทางธุรกิจประกันภัยในอนาคตที่กำลังจะมาถึง และสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ หรือ IFRS 17 ที่จะประกาศใช้ในปี 2021 โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาและเชื่อมต่อระบบ Web service ให้เป็นช่องทางการขายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตัวแทนรายย่อย โบรกเกอร์และคู่ค้าของบริษัทมากขึ้น

นางสาวอรลดากล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมสิ้นปีประมาณ 600 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์การรับประกันงานคุณภาพซึ่งมาจากงานกลุ่ม Motor ร้อยละ 70 แบ่งเป็นประกันภัยภาคสมัครใจร้อยละ70 ครอบคลุมทั้งประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ประเภท 2 ประเภท 3 และ พ.ร.บ.ร้อยละ 30 ส่วนงานกลุ่ม Non Motor ร้อยละ 30 จะรุกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความโดดเด่นและตรงกับความต้องการลูกค้าแบบครบวงจร ทั้งประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล PA ประกันภัยธุรกิจ SME ประกันการเดินทางในประเทศ TA ประกันภัยบ้าน ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันภัยวิศวกรรม ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด โดยจะเดินสายพบปะลูกค้าในกลุ่มโบรกเกอร์ตัวแทนในต่างจังหวัดมากขึ้น

นางสาวคณิดา นิมมาณวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี (CFO) กล่าวว่า เพื่อให้เป้าหมายทางธุรกิจของ TSI มีความคล่องตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจตามแผนข้างต้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทไม่เกิน 1,081,754,992 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 2,163,509,984 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) รวมเป็นหุ้นสามัญไม่เกิน 3,245,264,976 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่เกิน 2,163,509,984 หุ้น ในอัตรา 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 2 หุ้นสามัญที่ออกใหม่

“ก่อนการเพิ่มทุนบริษัทจะลดทุนจดทะเบียนบริษัทจาก 1,326,518,451 บาท เป็น 1,081,754,992 บาท ด้วยการยกเลิกหุ้นสามัญที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ออกจำหน่าย จำนวน 244,763,459 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท หลังจากนั้นจะลดมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น (Par Value) จากหุ้นละ 1.00 บาท เป็นหุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทลดลงจาก 1,081,754,992 บาท คิดเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 1,081,754,992 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท เป็นจำนวน 540,877,496 บาท โดยมีจำนวนหุ้นสามัญคงเดิมเท่ากับ 1,081,754,992 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท” นางสาวคณิดากล่าว และว่า แผนการแก้ไขปัญหาทางการเงินข้างต้นได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทแล้ว หลังจากนี้ บริษัทจะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติอนุมัติแผนดังกล่าวในวันที่ 28 มิถุนายนศกนี้ ซึ่งการดำเนินการภายใต้แผนการลดทุนลดพาร์ครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเพียงการหักลบตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น

Advertisement

นางสาวคณิดากล่าวว่า ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลขาดทุนลดลงทั้ง YoY และ QoQ สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งการปรับปรุงพอร์ตการลงทุนและการควบคุมคุณภาพการรับงานประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR RATIO) ในไตรมาสเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 254.35 จากไตรมาสก่อนหน้า (Q4/2561) ที่ร้อยละ 232.23 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนดไว้ ทั้งนี้ เมื่อบวกกับแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเงินที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ รวมไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2562-2564) ที่บริษัทตั้งเป้ามีเบี้ยประกันภัยรับ 1,400 ล้านบาทแล้ว เชื่อว่า TSI จะได้รับการปลดเครื่องหมาย “C” จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image