เฉลียงไอเดีย : ภาครัฐตื่นตัวสังคมสูงวัย จัด‘แคร์ เอ็กซ์โป’ โชว์นวัตกรรมตัวช่วยชาวชรา สบช่องหนุนเอสเอ็มอีขยายตลาด

คําว่า “แก่” พูดเบาๆ ก็เจ็บ โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่า การสูงวัยของประชากรเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้านสหประชาชาติได้ให้นิยามว่า “ผู้สูงอายุ” คือประชากรผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ส่วนองค์การอนามัยโลกยังไม่มีการให้นิยามผู้สูงอายุ โดยมีเหตุผลว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีการนิยามผู้สูงอายุต่างกัน ทั้งนิยามตามอายุเกิด ตามสังคม วัฒนธรรม และสภาพร่างกาย เช่น ในประเทศที่เจริญแล้วมักจัดผู้สูงอายุ โดยนับจากอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือบางประเทศอาจนิยามตามอายุกำหนดให้เกษียณงาน (อายุ 50 ปีหรือ 60 ปีหรือ 65 ปี) หรือนิยามตามสภาพของร่างกาย โดยผู้หญิงสูงอายุอยู่ในช่วง 45-55 ปี ส่วนชายสูงอายุอยู่ในช่วง 55-75 ปี แต่หากตามพระราชบัญญัติ ผู้สูงอายุ ปี 2546 “ผู้สูงอายุ” หมายถึง “บุคคล” ซึ่งมีอายุเกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป..

ส่วนคำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” สหประชาชาติแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ การมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมเพศชายและเพศหญิงมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 หรือประชากรอายุ 65 ปี ร้อยละ 14 ของประชากรรวมทั้งประเทศ และระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศทั่วโลกมีการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในช่วงเวลาแตกต่างกันตามความเจริญ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพและการมีอายุยืนของประชาชน

ปัจจุบันทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ อิตาลี ญี่ปุ่น กรีซ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ต่างให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้สูงอายุ มีการสนับสนุนการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งในหลายประเทศมีการออกกฎหมายสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับประเทศไทยได้ออกกฎหมายสนับสนุน ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึงร้อยละ 100 ของเงินที่จ่ายให้ลูกจ้างผู้สูงอายุแก่บริษัทนั้นๆ

จากข้อมูลกรมการปกครองปี 2559 จังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ มีจำนวน 936,856 ราย รองลงมาคือ จ.นครราชสีมา จำนวน 400,496 ราย จ.เชียงใหม่ จำนวน 284,497 ราย จ.ขอนแก่น จำนวน 276,209 ราย และ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 240,522 ราย ขณะที่จังหวัดที่มีผู้สูงอายุจำนวนน้อยที่สุด คือระนอง จำนวน 23,543 ราย

Advertisement

ภาวะสูงวัยของประชากร ย่อมเกี่ยวพันกับความเสื่อมโทรมของสุขภาพ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยสุขภาพที่ดีจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ต้องให้การส่งเสริม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงร่วมกับ บริษัท บิสิเนส อีเว้นท์ เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท เจโทร จากประเทศญี่ปุ่น สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย สมาคมผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง รวมทั้งภาคธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการผู้สูงอายุในทุกกลุ่มธุรกิจ จึงร่วมจัดงาน “แคร์ เอ็กซ์โป 2019” เพื่อรวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการผู้สูงอายุ

สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุถึงการจัดงานเพื่อต้องการนำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการผู้สูงอายุมาจัดแสดงให้กลุ่มเป้าหมายของผู้สูงอายุได้อัพเดตเทรนด์ของนวัตกรรมที่จะช่วยให้การดำรงชีวิตในวัยชราสะดวกสบายมากขึ้น ขณะที่เป็นโอกาสของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ สสว.มีหน้าที่ส่งเสริมธุรกิจกลุ่มนี้ให้เติบโต เพราะจากข้อมูลการประชุมนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุระดับเอเชียครั้งที่ 6 คาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 มูลค่าตลาดรวมทั่วโลกของอุตสาหกรรมเพื่อผู้สูงอายุ จะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7-8% จากปี 2561 ที่มีมูลค่าตลาดโดยรวม อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จะมีการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย

ด้าน นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย เผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการผู้สูงอายุมีความเกี่ยวเนื่องกับหลายๆ ธุรกิจ ทั้งธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ประกันภัย ประกันชีวิตผู้สูงอายุ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพและความงาม ศัลยกรรม ที่พักอาศัย แต่ธุรกิจเหล่านี้ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ การจัดงานครั้งนี้คาดหวังว่าจะช่วยขยายอุตสาหกรรมด้านนี้ให้เติบโตขึ้นได้

ขณะที่ นพ.สุกรีย์ สมานไทย นายกสมาคมผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (สสพ.) กล่าวย้ำว่า วาดหวังต่อการจัดงานครั้งนี้จะเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสำหรับผู้สูงวัยได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ เกิดการร่วมมือและการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศเพื่อเพื่อรองรับความต้องการในการดูแลผู้สูงอายุให้มีมาตรฐานในการให้บริการที่ถูกต้องอันจะเป็นประโยชน์ต่ออาชีพของสมาชิกและต่อสังคมส่วนรวมต่อไป

สำหรับงาน “แคร์ เอ็กซ์โป 2019” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-1 กันยายน 2562 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค มีการจัดแสดงสินค้า 5 หมวด ได้แก่ 1.มาตรฐานความเป็นอยู่ เช่น การออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ อุปกรณ์เทคโนโลยี สำหรับการติดตาม เป็นต้น 2.อาหาร เครื่องดื่มและเครื่องนุ่งห่ม เช่น อาหารคลีน อาหารออร์แกนิค เป็นต้น 3.การดูแล และการสนับสนุนทางการแพทย์ 4.การเงินและการลงทุนด้านการให้คำปรึกษาการบริหารสินทรัพย์สินเชื่อที่อยู่อาศัย การประกันชีวิตโปรแกรมสำหรับวัยเกษียณ และ 5.การดูแลและการสนับสนุนกิจกรรมยามว่าง เช่น โรงแรม รีสอร์ต บริการรถเช่า อุปกรณ์ออกกำลังกาย เป็นต้น

สำหรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ในระหว่างการดำเนินนโยบายต่างๆ อาจยังพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการประสานงาน หรือการร่วมมือกัน ซึ่งยังคงขาดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ในการขับเคลื่อนนโยบายที่มีทิศทางสอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนขาดการสื่อสารไปสู่ภาคประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

และแม้ว่าการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล แต่การได้ศึกษาวิเคราะห์และทำความเข้าใจนโยบายต่างๆ จากประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมมาก่อน ประเทศไทยและเป็นประเทศผู้นำเอเชีย อย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่มีการวางแผนและมีการดำเนินนโยบายในการรองรับสังคมสูงอายุที่ดีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยควรจะต้องพึงตระหนักถึงในการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุก็คือ การสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่าและเป็นภาระต่อสังคม รวมถึงทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์ให้กับครอบครัว สังคมและประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับประชากรวัยเด็ก เพราะเด็กในวันนี้ท้ายสุดแล้วจะต้องเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญของประเทศในวันข้างหน้าเช่นกัน

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image