‘กฤษฎา’เข้มสั่งปลัดเกษตร-ผู้ว่าการยาง สอบร้องฮั้วพาราซอยล์ซีเมนต์พันล้าน

รมว.เกษตร.สั่งเฉียบ ให้ปลัดกระทรวง-รก.ผู้ว่าก.ย.ท. ตรวจสอบข้อเท็จจริง’ปม’คนร้องต่อ’บิ๊กตู่’ฮั้วโครงการทำถนนยางพันล้านจริงหรือไม่ ชี้ก.ย.ท.ไร้อำนาจอนุมัติงบฯ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึง กรณีที่มีผู้ประกอบการยางพาราเข้าร้องเรียนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล (สายด่วน 1111) โดยกล่าวหาว่า พบข้อพิรุธและสงสัยในข้อมูลที่ประกาศรายชื่อทางเวปไซต์ของการยางแห่งประเทศไทย (ก.ย.ท.) ซึ่งปรากฏชื่อ บริษัทเอกชน 3 รายประกาศอยู่ในเว็ปไซต์ของก.ย.ท. โดยแจ้งว่า เป็นบริษัทที่มีน้ำยางพาราผสมสารเพิ่มถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกประการ และหากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายใดประสงค์จะเข้าประกวดราคาทำถนนผสมยางพาราในหน่วยงานของรัฐนั้นจะต้องซื้อน้ำยางพาราผสมสารเพิ่มจาก 3 บริษัทนี้เท่านั้น ตามราคาที่กำหนดหรือตกลงกัน ซึ่งกลุ่มผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่า เป็นการซื้อน้ำยางพาราผสมสารเพิ่มในราคาสูงมากและผูกขาดนั้น เรื่องนี้ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวแล้ว

นายกฤษฎากล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจประการแรกคือ การยางแห่งประเทศไทย (ก.ย.ท.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรฯ มีภารกิจคือ ดูแลเกษตรกรชาวสวนยางในการปลูก การพัฒนาคุณภาพผลผลิต การหาช่องทางให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตยางพารา ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ดังนั้น ก.ย.ท. จึงไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติให้มีการจัดซื้อหรือจัดจ้างเอกชนในการปรับปรุงหรือก่อสร้างถนน”

นายกฤษฎากล่าวว่า เมื่อปี 2560 – 2561 ราคายางพาราตกต่ำทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ โดยได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรหลายประการ ซึงหนึ่งในแนวทางสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางคือ โครงการใช้ยางพาราในภาครัฐ เพื่อยกระดับราคายางพารา โดยครม. ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำน้ำยางพาราไปผสมผงปูนซีเมนต์ทำถนนแทนการทำถนนด้วยดินลูกรัง เรียกว่า “ถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ” (ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์) ใช้แทนถนนลูกรังในชนบททั่วประเทศจำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร ต่อมาได้เพิ่มความยาวถนนในโครงการ เป็น 3 แสนกิโลเมตร โดยทยอยทำปีละ 50,000 กิโลเมตร ซึ่งผลจากโครงการดังกล่าว ทำให้ราคายางพาราในปี 2562 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (วันที่ 21 มิถุนายน 62) ราคาน้ำยางสดปรับมาถึง 52.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เริ่มแตะกิโลกรัมละ 60 บาท

Advertisement

นายกฤษฎากล่าวว่า จากการที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดแนวทางเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศด้วยการก่อสร้างถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ แต่เนื่องจากเป็นนวัตกรรมซึ่งยังไม่มีราคากลางตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลาง จึงได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 4 เกี่ยวกับการก่อสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ และกระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงชนบทออกแบบมาตรฐานสำหรับการก่อสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศประกาศ เรื่อง ข้อแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติสำหรับงานท้องถิ่น เมื่อ วันที่ 11 ธันวาคม 2561 เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ในการจัดซื้อ จัดจ้างการทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ตามโครงการ และก.ย.ท. ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการ ในวันที่ 11 มกราคม 2562 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ พร้อมทั้งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมบัญชีกลาง สตง. ปปช. กระทรวงคมนาคม เป็นต้น เพื่อให้ข้อคิดเห็นต่อโครงการ ซึ่งจากการประชุมได้มีข้อคิดเห็นจากผู้แทนกระทรวงการคลังว่า ควรมีการรับรองคุณภาพมาตรฐานวัสดุที่ใช้ในการทำถนนพาราซอยซีเมนต์ได้แก่ น้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่มเนื่องจากเป็นวัสดุชนิดใหม่และมีผลโดยตรงต่อมาตรฐานหรือข้อกำหนดของถนนชนิดนี้

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 347/2562 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ผู้แทนกรมทางหลวง ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์บริการ ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองทัพบก และผู้แทนการยางแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่พิจารณารับรองมาตรฐานคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพ และการควบคุมคุณภาพน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับงานก่อสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ พร้อมทั้งจัดทำประกาศคู่มือการรับรองคุณภาพของน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม ซึ่งในคู่มือดังกล่าวประกอบด้วยขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการขอรับรองคุณภาพของน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม

การขอรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการมีขั้นตอนดังนี้

Advertisement

– ผู้ประกอบการยื่นขอการรับรองพร้อมหลักฐานตามคู่มือฯกำหนด พร้อมนัดวันที่ให้คณะกรรมการ (ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวงและก.ย.ท.) เข้าตรวจและเก็บตัวอย่างทดสอบ

– เจ้าหน้าที่ตรวจกระบวนการผลิตและนำตัวอย่างส่งวิเคราะห์ผลสมบัติทางยางและสมบัติทางวิศวกรรม ตามเกณฑ์กำหนดในคู่มือฯโดยการยางแห่งประเทศไทยรับผิดชอบในการทดสอบสมบัติทางยางและกรมทางหลวงรับผิดชอบในการทดสอบสมบัติทางวิศวกรรม

– นำเสนอผลให้คณะกรรมการรับรองฯ เป็นผู้พิจารณาเพื่อรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่มนั้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำยางผสมสารผสมเพิ่ม “ไม่ใช่ผู้รับจ้างทำถนน” เป็นเพียง “ผู้จำหน่ายวัสดุชนิดหนึ่งประกอบการทำถนน” เท่านั้น ผู้รับจ้างมีสิทธิที่จะเลือกซื้อวัสดุที่ได้มาตรฐานจากบริษัทใดก็ได้ คณะกรรมการ เปิดโอกาสที่จะทดสอบและรับรองมาตรฐานน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มให้ผู้ประกอบการที่สนใจผลิตและดำเนินการตามขั้นตอนตลอดเวลา โดยมีผู้ประกอบการที่สนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายกฤษฎากล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้มายื่นคำขอรับรอง 10 ราย โดยในช่วงแรกหลังจากประกาศมีผู้มายื่นขอการรับรอง 6 รายและนัดให้เข้าตรวจและเก็บตัวอย่าง 5 ราย ซึ่งจากผลการทดสอบปรากฏว่า มีผู้ผ่านการรับรอง 3 ราย คือ 1.บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด 2.บริษัท สยามนวกรรม จำกัด 3.บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ไม่ผ่านการรับรอง 2 ราย ซึ่งคณะกรรมการได้แจ้งผลให้ผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านการรับรองทราบและให้ปรับปรุงน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มเพื่อทดสอบใหม่ โดยผู้ประกอบการรายใด เห็นว่า การดำเนินการในขั้นตอนใดไม่ถูกต้องก็สามารถยื่นอุทธรณ์มาที่คณะกรรมการเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ซึ่งถ้าเห็นว่าว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถนำคำร้องไปฟ้องศาลปกครองได้ต่อไป

ล่าสุดขณะนี้มีผู้ประกอบการมายื่นขอการรับรองเพิ่มเติมอีก 4 ราย โดยมี 2 รายที่ได้เข้าตรวจกระบวนการผลิตและเก็บตัวอย่างมาส่งทดสอบแล้ว โดยอยู่ระหว่างรอผลทดสอบ ส่วนอีก 2 รายนัดเข้าตรวจและเก็บตัวอย่างในวันที่ 20 และ 30 มิถุนายน 62 นี้

“การยางแห่งประเทศไทยพร้อมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอยืนยันว่า การดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้และมีส่วนราชการหน่วยต่างๆ ร่วมดำเนินการในรูปคณะกรรมการ หากผู้ประกอบการรายใดหรือประชาชนเห็นว่า การดำเนินการในขั้นตอนใดมีการกระทำที่ทุจริตหรือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถแจ้งมาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรง หรือจะใช้สิทธิดำเนินการตามกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมอีกทางหนึ่งก็สามารถดำเนินการได้” นายกฤษฎากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image