เจาะลึกตลาดคอนโด11 สถานีแนวรถไฟฟ้าหัวลำโพง-บางแค พบสถานีบางหว้าเปิดมากสุด

นางสาวอัญชนา วัลลิภากร ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ศักยภาพและโอกาสการขยายตัวของเมืองในโซนฝั่งธนบุรีจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค เปิดให้บริการโดยจะเป็นการเชื่อมต่อกับสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ หรือ CBD เขตเมืองชั้นในบริเวณพระราม 4 ที่อนาคตจะเป็นสมาร์ทซิตี้ รวมถึงสีลม สาทร ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันศักยภาพของเมืองที่ขยายตัวจะเกิดขึ้นตลอดแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค ซึ่งมีระยะทาง 15.9 กิโลเมตร รวม 11 สถานี เส้นทางเริ่มจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระราม 4 ผ่านถนนเจริญกรุง วังบูรพา ถนนสนามไชยลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ผ่านถนนอิสรภาพแล้วเปลี่ยนเป็นเส้นทางยกระดับบริเวณบนเกาะกลางถนนเข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งจะมีสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และวิ่งไปตามแนวถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า บางแค สิ้นสุดสายทางที่สถานีหลักสองบริเวณวงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก

นางสาวอัญชนา กล่าวว่า จาก Big Data ของ Baania สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้านราคา 5 ปีย้อนหลังของโครงการคอนโดมิเนียมทั้งมือหนึ่งและมือสองรอบสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 11 สถานี ในระยะรัศมี 800 เมตร พบว่า ราคาคอนโดยังเกาะกลุ่มอยู่ใน Segment 70,000-120,000 บาทต่อตารางเมตร หรือกลุ่ม Main Class โดยมีราคาเฉลี่ยในปี 2557 อยู่ที่ 66,600 บาทต่อตารางเมตร และขยับขึ้นมาในปี 2558 อย่างรวดเร็วอยู่ที่ 82,000 บาทต่อตารางเมตร และเพิ่มเป็น 85,850 บาทต่อตารางเมตรในปี 2559 ในปี 2560 ราคาคอนโดตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค ได้ปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 86,521 บาทต่อตารางเมตร จนถึงในปี 2561 ราคาเฉลี่ยตกลงเหลือ 71,600 บาทต่อตารางเมตร เนื่องจากเป็นปีที่มีโครงการเปิดใหม่เพียงโครงการเดียว และเป็นโครงการที่มีราคาเฉลี่ยต่อพื้นที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับราคาคอนโดในปีอื่นๆ จนถึงปี 2562 ราคาเฉลี่ยได้ปรับสูงอีกครั้งมาอยู่ที่ 84,478 บาทต่อตารางเมตร

นางสาวอัญชนา กล่าวว่า สำหรับราคาเฉลี่ยของคอนโดตามสถานีที่มีโครงการเปิดขาย พบว่า สถานีหัวลำโพงมีคอนโดที่ราคาเฉลี่ยต่อพื้นที่ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 1.74 แสนบาทต่อตารางเมตร จัดอยู่ในกลุ่ม Luxury เนื่องจากคอนโดส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทำเลที่ค่อนไปทางไข่แดงของเมือง และใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวอย่างเยาวราชด้วย นอกจากนี้ สถานีท่าพระ เป็นอีกสถานีหนึ่งที่ราคาคอนโดเฉลี่ยแตะระดับหลัก 101,100 บาทต่อตารางเมตร เนื่องจากเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และเตาปูน-ท่าพระ จึงถือเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมอีกแห่งของย่านฝั่งธนบุรี

นางสาวอัญชนา กล่าวว่า ขณะที่ สถานีบางไผ่เป็นพื้นที่ที่ราคาคอนโดเฉลี่ยต่ำที่สุด 5.7 หมื่นบาทต่อตารางเมตร ส่วนในสถานีอื่นๆ มีราคาใกล้เคียงกัน และอยู่ในกลุ่มราคาที่นิยมมากที่สุดคือกลุ่มคอนโด Main Class ราคาต่อยูนิตมีค่อนข้างหลากหลาย มีตั้งแต่ 1 ล้านบาทกลางๆ ไปถึงราคาเกิน 3 ล้านบาท เป็นทางเลือกของกลุ่มคนทำงานระดับกลางรายได้ประมาณ 2.8 หมื่นบาท/เดือน ที่มีออฟฟิศอยู่ในเขตเมืองชั้นใน ทั้งนี้จะเห็นว่า ทำเลหลักในการพัฒนาคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค อยู่บนถนนเพชรเกษม โดยเฉพาะบางแค ถือเป็นศูนย์กลางชุมชนของย่าน และเป็นแหล่งอยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ราคายังไม่แพงเกินไปนัก

Advertisement

นางสาวอัญชนา กล่าวว่า สำหรับสถานีที่มีจำนวนคอนโดเปิดขายหนาแน่นที่สุดบนถนนเพชรเกษมคือ สถานีบางหว้า มีจำนวนทั้งสิ้น 3,719 ยูนิต ขณะที่สถานีภาษีเจริญ มีจำนวนคอนโดหนาแน่นเป็นอันดับ 2 ที่ 2,498 ยูนิตสถานีท่าพระเป็นอันดับ 3 มีจำนวน 2,453 ยูนิต ส่วนสถานีเพชรเกษม 48 เป็นอันดับ 4 มีจำนวนคอนโด 2,294 ยูนิต และสถานีบางไผ่เป็นอันดับ 5 มีจำนวน 1,936 ยูนิต ตลอดระยะเวลาการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ประมาณ 8 ปีกว่า ตั้งแต่เมษายน 2554 – กันยายน 2562 เห็นได้ชัดเจนว่าบนถนนเพชรเกษมตามแนวรถไฟฟ้ามีคอนโดเกิดใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีจำนวนคอนโดที่เปิดขายเกือบ 20,000 ยูนิต ในจำนวนนี้กว่า 90% เป็นคอนโดที่อยู่บนถนนเพชรเกษม และในปี 2560 ถือเป็นปีที่มีคอนโดใหม่เข้าสู่ตลาดมากที่สุดกว่า 5,000 ยูนิต และมีอัตราการดูดซับสูงถึง 90% ส่วนขนาดห้องที่ได้รับความนิยมจะอยู่ที่ 30-35 ตารางเมตร คาดว่าเมื่อรถไฟฟ้าเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วจะมีคอนโดเปิดใหม่เพิ่มขึ้นกว่านี้อีกมาก ขณะที่ราคาขายก็คาดว่าจะมีการปรับสูงขึ้นเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image