อหิวาห์แอฟริกาหมูระบาดลาว ใกล้ไทยแค่ 170 กม. กรมปศุสัตว์สั่งแบนหมูลาว

อหิวาห์แอฟริกาหมู ปะทุลาว 7 จุด ห่างชายแดนไทยแค่ 170 กม. กรมปศุสัตว์เต้น ออกประกาศ แบนนำหมูลาวเข้าไทย 3 เดือน พร้อมส่งยาฆ่าเชื้ออุปกรณ์ป้องกันไปช่วย

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือเอเอสเอฟ (African Swine Fever-ASF) จำนวน 7 จุดแล้ว องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือโอไออี (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties, OIE) ได้ประกาศการเกิดโรคนี้ระบาดในลาว ซึ่งเป็นการระบาดครั้งแรก โดยพบใน 7 แห่ง ที่จังหวัดสาละวัน เป็นฟาร์มขนาดเล็ก ขนาดฟาร์มเลี้ยงสุกรน้อยสุด จำนวน 80 กว่าตัว และขนาดฟาร์มที่มีการเลี้ยงใหญ่สุกรประมาณ 400 ตัว พบการป่วยและการตาย จำนวนอย่างละเท่าๆ กันทุกฟาร์ม คือ จำนวนหมูในฟาร์มที่พบจะเป็นจำนวนหมูป่วยครึ่งหนึ่ง และตายครึ่งหนึ่ง จุดเกิดเหตุที่เกิดการระบาดในครั้งนี้ นับระยะทางห่างจากชายแดนจังหวัดอุบลราชธานีเพียง 170 กิโลเมตร ทำให้เกิดความน่าเป็นห่วงกับพื้นที่การเลี้ยงสุกรในภาคอีสาน

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า ได้ลงนามประกาศกรมปศุสัตว์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ชะลอนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร สุกร หมูป่า หรือซากสุกร ซากหมูป่า จาก สปป.ลาว เนื่องจากโรคระบาดสัตว์ชนิดนี้สามารถแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางได้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค หรือซากของสัตว์ซึ่งป่วยหรือตายไปยังท้องถิ่นต่างๆ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์ชนิดดังกล่าวมีโอกาสแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรและหมูป่าในประเทศ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ออกประกาศ ดังต่อไปนี้ 1.ให้ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสุกร หมูป่า หรือซากสุกร ซากหมูป่า ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจาก สปป.ลาว 2.ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ 90 วันนับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ขอบคุณภาพจากอธิบดีปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า โรคเอเอสเอฟเข้าใกล้ไทยทุกที ที่ผ่านมา เคยระบาดในเอเชียมา 6 ประเทศแล้ว คือ จีน มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีเหลือ และล่าสุดคือ แขวงสาละวัน สปป.ลาวตอนใต้ ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนไทยอีสาน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่โรคจะเข้าไทยได้ ทางช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี รองลงมา คือ ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 จ.มุกดาหาร เพื่อเป็นการปกป้องอาชีพเลี้ยงหมูให้อยู่รอดต่อไปในประเทศไทย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันป้องกันโรคนี้ไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทย ให้เข้มข้นอย่างต่อเนื่อง จึงย้ำ 10 มาตรการหลัก ที่จะช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากโรคนี้ คือ ” 5 ห้าม 5 ทำ ”

Advertisement

1.ห้ามนำเข้าสุกรทุกชนิดและน้ำเชื้อสุกร จากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ และประเทศที่มีความเสี่ยงสูง 2.ห้ามนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรทุกประเภทจากประเทศที่มีรายงานระบาดของโรคเอเอสเอฟ เข้าประเทศไทย รวมถึงการตั้งด่านตรวจสอบผู้โดยสารขาเข้าทั้งทางรถ ทางเรือ เครื่องบิน และเส้นทางอื่นๆ ตามชายแดนอย่างเข้มงวด 3.ห้ามนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์สำหรับสุกรทุกประเภท จากประเทศที่มีการระบาดของโรคเอเอสเอฟรวมถึงประเทศที่มีความเสี่ยง สำหรับกรณีที่มีการส่งออกอาหาร/วัตถุดิบอาหารสัตว์หรืออาหารสัตว์สำเร็จรูปไปประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ควรส่งไปถึงฟาร์มหรือโรงงานอาหารของต่างประเทศโดยตรง ควรไปส่งที่จุดรับที่เป็นโกดัง แล้วให้รถจากภายในประเทศที่ไปส่งมาขนอาหารสัตว์ไปส่งฟาร์มอีกทอดนึง โดยรถและคนขับทั้งสองฝั่งไม่สัมผัสกัน และรถที่กลับออกมาจะต้องล้าง ฆ่าเชื้อพักโรค 30 นาที ที่จุดฆ่าเชื้อชายแดน ก่อนกลับเข้าประเทศ และพักโรคอีกอย่างน้อย 24 ชม. ก่อนใช้ขนเที่ยวถัดไป และไม่ควรใช้รถคันเดียวกันขนอาหารสัตว์ไปส่งฟาร์มในประเทศไทย

4.ห้ามรถขนส่งสุกรและสินค้าที่เกี่ยวกับสุกร เช่น ยาสัตว์ วัคซีน อาหารสัตว์ ออกนอกประเทศเข้าไปส่งปลายทางโดยตรง ควรมีจุดรับส่งที่ชายแดนเท่านั้น พร้อมกับมีระบบฆ่าเชื้อรถขนส่งก่อนกลับ และพักโรคอย่างน้อย 72 ชม.ก่อนกลับไปใช้ขนสุกรมีชีวิต และพัก 24 ชั่วโมง ก่อนนำไปใช้ขนสินค้าหรือวัตถุอื่นๆ 5.ห้ามฟาร์มสุกรในประเทศไทยรับแขกเยี่ยมฟาร์มจากประเทศที่มีรายงานโรคและประเทศที่เสี่ยง ขณะเดียวกัน นักวิชาการ สัตวแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องกับฟาร์มสุกรของประเทศไทย ก็ควรงดการเข้าเยี่ยมฟาร์ม โรงชำแหละ และสถานที่ที่มีสุกรและเนื้อสุกร ที่อยู่ในเขตรายงานโรคระบาด 6.ภาครัฐควรจัดเตรียมกำลังพลทั้งเจ้าหน้าที่และสุนัขทหารประจำด่านตรวจสอบผู้โดยสาร/หรือผู้เดินทางเข้าประเทศทุกเส้นทาง 24 ชั่วโมง ป้องกันการลักลอบนำเข้าวัตถุที่สามารถปนเปื้อนเชื้อโรคเอเอสเอฟ จากประเทศที่มีการระบาดตามประกาศของโอไออี เข้าสู่ประเทศ และมีบทลงโทษที่ชัดเจนกรณีมีคนฝ่าฝืน 7.ควรมีประกาศจากภาครัฐห้ามผู้ประกอบการ สนามบิน ร้านอาหาร โรงแรม โรงงานผลิตอาหาร โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น นำเศษอาหารหรือชิ้นส่วนที่เสียหายจากการผลิตอาหาร ขายหรือนำออกจากสถานประกอบการส่งให้ลูกค้าภายนอก ป้องกันการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเลี้ยงสุกร 8.มีระบบป้องกันและเฝ้าระวังสัตว์พาหะนำโรค เช่น หมูป่า หมูกี้ชาวเขา ที่สามารถนำโรคผ่านทางชายแดนของประเทศที่เป็นโรคระบาด เช่น ห้ามล่าหมูป่านำมาใช้เป็นอาหารในเขตชายแดนไทย-เขมร เป็นต้น และควรมีการสุ่มตรวจโรค ASF ในหมูป่า หรือซากหมูป่าที่ตาย ในเขตเสี่ยง สำหรับหมูกี้หมูพื้นเมืองที่เลี้ยงแบบหลังบ้าน ก็ต้องมีมาตรการในการลดการเลี้ยงในเขตชายแดน เพื่อการลดความเสี่ยงการติดโรคจากประเทศเพื่อนบ้าน และมีการสุ่มตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่ เพื่อเฝ้าระวังเชิงรุก

9.มีการตั้งศูนย์รายงานและเฝ้าระวังโรคทุกด่านชายแดนเข้าออกของประเทศไทย รวมถึงศูนย์อำนวยกลางเพื่อการสนับสนุนการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยมีเครือข่ายกระจายทุกภาค และมีปศุสัตว์ทุกจังหวัดเข้าร่วม เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและรับมือกรณีประเทศไทยพบการระบาด 10.ภาครัฐ มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ควรสนับสนุนทั้งทีมงาน นักวิชาการ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ไทยมีพร้อมให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโรคเอเอสเอฟ เนื่องจากเป็นพื้นที่กันชนที่สำคัญต่อการป้องกันโรคเข้าสู่ประเทศไทย แม้ว่าบางเขตของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ มีการติดเชื้อไปแล้วแต่ถ้าสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายได้นานเท่าไหร่ ไทยก็เสี่ยงน้อยลงได้นานเท่านั้น

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า ดร.สายแสง ขุนสี อธิบดีกรมปศุสัตว์และการประมง สปป.ลาว ได้ทำหนังสือถึงตนสนับสนุนยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์ในการป้องกันโรคเอเอสเอฟ และบอกด้วยว่ามีการระบาดอย่างต่อเนื่องในจังหวัดสาละวัน ที่เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน จึงขอเพื่อการควบคุมการระบาดของเอเอสเอฟ จากกรมปศุสัตว์แห่งประเทศไทยเพื่อลดความเสี่ยง การระบาดของโรคนี้แพร่กระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ สะหวันนะเขต จำปาสัก เซกอง และอัตตะปือ ซึ่งกรมปศุสัตว์ไทยจะสนับสนุนให้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image