รฟท.ลั่นลงนามกลุ่มซีพีลุยไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ก.ค.นี้ ยอมรับส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไม่ครบ 100%

แฟ้มภาพ

รฟท.ลั่นลงนามไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินกลุ่มซีพี ก.ค.นี้แน่นอน ยันส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ไม่ครบ 100% ยังมีบางพื้นที่ที่ต้องใช้เวลาเคลียร์อีก 1-2 ปี   

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร(กม.) วงเงินลงทุนรวม 2.24 แสนล้านบาท ภายหลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องของข้อมูลการเวนคืนพื้นที่เพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี โดยยืนยันว่าจะไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กลุ่มซีพีได้พร้อมกันทั้งหมดแน่นอน เพราะในบางพื้นที่อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีในการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเวนคืนพื้นที่ แต่มั่นใจว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ตามเป้าหมายในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้แน่นอน

“ในเรื่องนี้ของการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างนั้น ทางกลุ่มซีพีก็เข้าใจและรับทราบมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่สามารถส่งมอบได้ทั้งหมดในคราวเดียว และจะทยอยส่งมอบเพื่อให้ดำเนินการก่อสร้าง จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดพร้อมกันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบางพื้นที่มีผู้บุกรุกซึ่งจะต้องใช้เวลาดำเนินการ แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อกำหนดการลงนามในสัญญากับกลุ่มซีพี ในเดือนหน้านี้ ส่วนจะเป็นช่วงต้น กลาง หรือปลายเดือน ยังไม่ทราบ แต่ภายในเดือนกรกฎาคมแน่”นายวรวุฒิกล่าว

รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งว่า พื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 1 หมื่นไร่ ปัจจุบัน รฟท.พร้อมส่งมอบแล้วประมาณ 70-80% เหลือพื้นที่ที่ติดปัญหาอีกประมาณ 20% หรือประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บุกรุก พื้นที่ติดสัญญา และพื้นที่ที่ต้องเวนคืน แบ่งออกเป็น 1.พื้นที่ที่ต้องเวนคืน ประมาณ 850 ไร่ ซึ่งต้องดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน จำนวน 12 ฉบับ 2.กรณีพื้นที่บุกรุก พบว่ามีกว่า 1,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตามแนวก่อสร้างเส้นทางรถไฟใกล้กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงดอนเมือง – หัวหมาก และ 3.พื้นที่ที่ รฟท.ยังติดสัญญากับเอกชน พบว่ามีประมาณ 400 ไร่ รวมกว่า 300 สัญญา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image