อินฟราฟัน : เปิดมอเตอร์เวย์สายใหม่ : นายขันตี

เมกะโปรเจ็กต์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเตรียมเปิดบริการในอีกไม่นาน นอกจากระบบราง ยังมีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง (ทล.) รวม 3 เส้นทางด้วยกัน

เริ่มจาก มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางแล้ว

โดยมอเตอร์เวย์สายนี้เป็นทางมาตรฐานชั้นพิเศษ 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) แบ่งแยกทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางลดระดับ ไหล่ทางด้านใน กว้าง 1 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 3 เมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 13 ตอน คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือนเมษายน 2563

เมื่อเปิดแล้วจะช่วยให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-สัตหีบ-มาบตาพุด-ระยอง มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกด้วย

Advertisement

เส้นทางต่อมา คือ มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงินลงทุน 5.94 หมื่นล้านบาท การก่อสร้างคืบหน้ามากกว่า 68% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนดและเปิดใช้งานได้ในปี 2564

ปัจจุบัน ทล.ยังอยู่ระหว่างประกวดราคาเพื่อหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (โอแอนด์เอ็ม) มอเตอร์เวย์สายนี้ รวมถึงสายบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมทุนได้ในเดือนธันวาคม 2562 นี้

สุดท้าย คือ มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงินลงทุน 4.37 หมื่นล้านบาท ยังเดินหน้าก่อสร้างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพิ่มวงเงินค่าเวนคืนอีกประมาณ 8 พันล้านบาท

Advertisement

เดิมมีกำหนดเปิดใช้พร้อมสายบางปะอิน-นครราชสีมา แต่เนื่องจากมีปัญหาการเวนคืน จึงต้องเลื่อนกำหนดเปิดออกไปก่อน

นอกจากมอเตอร์เวย์ทั้ง 3 สายนี้แล้ว ทล.ยังเตรียมเดินหน้า มอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 6.39 หมื่นล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หากแล้วเสร็จก็จะนำเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป

สำหรับการลงทุนเป็นแบบพีพีพี เน็ตคอสต์ โดยให้เอกชนเก็บรายได้ค่าผ่านทางและแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐด้วย แบ่งสัดส่วนการลงทุนเป็น 2 ส่วน คือ ทล.เป็นผู้เวนคืนที่ดินมูลค่า 9,488 ล้านบาท และให้เอกชนเป็นผู้จัดหาเงินทุน ก่อสร้างโยธาและงานระบบ ซ่อมบำรุงเส้นทาง รวมทั้งการก่อสร้างและบริหารจัดการที่พักริมทางทั้งหมด มูลค่า 54,510 ล้านบาท เริ่มลงมือก่อสร้างภายในปี 2563 แล้วเสร็จและเปิดบริการภายในปี 2565

เมื่อเปิดใช้งานได้ตามแผน จะเดินทางไปไหนมาไหนคงสะดวกขึ้นเยอะ!!

นายขันตี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image