‘ลิบรา’ สกุลเงินเขย่าโลก จากเฟซบุ๊ก-เริ่มปี’63

ในทันทีที่ “เฟซบุ๊ก” ยักษ์ใหญ่ในแวดวงโซเชียลมีเดียระดับโลกประกาศเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาอย่างเป็นทางการว่า กำลังเตรียมการเพื่อจัดทำ “ลิบรา” ให้เป็นสกุลเงินดิจิทัลสกุลใหม่ ภายใต้การร่วมมือและสนับสนุนของ “หุ้นส่วน” 27 ราย ซึ่งรวมทั้งบริษัทอย่าง มาสเตอร์การ์ด, วีซ่า, อีเบย์, เพย์พัล และ อูเบอร์ ระบบการเงินทั่วโลกก็สั่นสะเทือนโดยฉับพลัน!?

ถึงขนาดที่ บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส ถึงกับต้องออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงถัดมา

เลอ แมร์ ยืนกรานว่า มีแต่เพียงรัฐบาลประเทศหนึ่งประเทศใดเท่านั้นที่สามารถออกสกุลเงินใดๆ มาใช้ได้ในเขตอำนาจอธิปไตยของชาตินั้นๆ

ไม่กี่วันหลังจากนั้น เลอ แมร์ เปิดเผยด้วยว่า ได้ร้องขอไปยังผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ หรือกลุ่ม จี7 ให้เร่งกระบวนการจัดทำรายงานให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ว่า ทำอย่างไรถึงจะกำหนดมาตรการให้เป็นหลักประกัน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสิ่งที่เฟซบุ๊กกำลังผลักดันให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงใดๆ ต่อทั้งผู้บริโภค และต่อการก่อให้เกิดกระบวนการทางการเงินนอกกฎหมายขึ้น

Advertisement

หลังจากนั้น เกิดข้อถกเถียงกันขึ้นมากมายทั้งในแวดวงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่อยไปจนถึงบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงิน การคลัง และแวดงธุรกิจ มีทั้งที่สนับสนุน ต่อต้าน เคลือบแคลงสงสัย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลิบรา ปรากฏต่อสาธารณะน้อยมากในเวลานี้

โลกมีเงินดิจิทัลระดับแนวหน้าอยู่หลายสกุล ตั้งแต่บิทคอยน์, เอเธเรียม, สเตลลาร์ เป็นอาทิ ไม่เคยมี คริปโทเคอร์เรนซี สกุลไหน ไม่ว่าจะออกมาในประเทศใด เขย่าโลกการเงินได้มากเท่านี้มาก่อน นอกจาก “ลิบรา” ของเฟซบุ๊ก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น!?

ในทางหนึ่งอาจเป็นเพราะคุณลักษณะจำเพาะของตัว “ลิบรา” เอง ที่แม้จะเป็นเงินดิจิทัลเหมือนกัน แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างจากเงินดิจิทัลทั่วไปอย่างใหญ่หลวง

Advertisement

ในอีกทางหนึ่งอาจเป็นเพราะเฟซบุ๊กกับหุ้นส่วนอีก 27 รายที่กลายเป็น “ผู้ก่อตั้ง” เงินสกุลนี้ ล้วนแล้วแต่เป็น “ยักษ์ใหญ่” ในแวดวงธุรกิจในส่วนของตนเองอยู่ทั้งสิ้น จะมียกเว้นเพียง 1 รายเท่านั้นที่เป็นองค์กรวิชาการที่ดำเนินการโดยไม่แสวงกำไรใดๆ

เหตุผลสุดท้ายอาจเป็นเพราะ “ลิบรา” ถูกจำกัดผู้ร่วมก่อตั้งและเก็บงำเป็นความลับสูงยิ่งมาตลอดจนถึงตอนนี้ และมีหลายกิจการที่ถูกมองข้ามไม่ถูกทาบทามเข้าร่วมด้วย รวมทั้งคู่แข่งสำคัญในละแวกซิลิกอนวัลเลย์ของเฟซบุ๊กเองอย่าง กูเกิลและแอปเปิล ก็ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ข้อกังขาจากบรรดาผู้ที่รู้สึก “ผิดหวัง” ย่อมมีมากตามไปด้วยเป็นธรรมดา

“ลิบรา” พัฒนาการรวดเร็วมาก เริ่มตั้งแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเขียนดาดๆ เนื่องในวาระปีใหม่เมื่อปี 2561 ของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก

ประโยคเดียวของซัคเคอร์เบิร์กในวาระดังกล่าวก็คือ เขาปวารณาตัวว่าจะใช้เวลามากขึ้นเพื่อ “ศึกษาให้มากขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น” เกี่ยวกับการเข้ารหัสและคริปโทเคอร์เรนซี

หลังจากนั้นไม่นาน กระบวนการเพื่อก่อตั้งสกุลเงินลิบราก็เดินหน้าเต็มพิกัด สปรินต์ราวกับนักวิ่ง 100 เมตร ทั้งติดต่อทาบทาม ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน ทั้งขายแนวความคิด ปรับแต่งระดมความคิดเห็น ระดมทุน ทั้งหมดถือเป็นเรื่อง “ลับสุดยอด” ใช้เวลา 18 เดือนก็สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างให้เห็น สามารถประกาศเปิดตัวสยบข่าวเล่าลือต่างๆ นานาได้

ในนิยามอย่างง่าย “ลิบรา” ก็คือเงินดิจิทัล ที่ไม่จำเป็นต้องมีรูปธรรมเป็นกระดาษธนบัตร หรือเหรียญ เป็นเพียงตัวเลขใน “วอลเล็ต” หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล อาศัยเทคโนโลยี “บล็อกเชน” ในการเก็บรักษาและถ่ายโอนทำนองเดียวกับคริปโทเคอร์เรนซีทั่วไป

แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือ “ลิบรา” ถูกกำหนดให้ “หลักทรัพย์” หนุนหลัง ทำนองเดียวกับที่เงินตราสกุลต่างๆ ของชาติต่างๆ จำเป็นต้องมีทองคำ หรือทุนสำรอง หนุนหลังให้เพียงพอจึงสามารถพิมพ์ออกมาใช้หมุนเวียนได้ สัดส่วนของหลักทรัพย์ที่หนุนหลังเงินสกุลลิบราอยู่นั้นต้องเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในรูปสกุลเงินต่างๆ คละกันในสัดส่วนที่เหมาะสม หรือที่เรียกกันว่า “ตะกร้าเงิน”

เฟซบุ๊ก แม้จะเป็นผู้ริเริ่ม แต่ก็ไม่ใช่เป็น “เจ้าของ” เงินสกุลนี้ เงินลิบราจะอยู่ในการควบคุมและบริหารจัดของ “ลิบรา แอสโซซิเอชั่น” หรือ “สมาคมลิบรา” ที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรประเภทไม่แสวงผลกำไร มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ บริษัททั้ง 27 บริษัทและเฟซบุ๊กคือองค์ประกอบของ “สมาคมลิบรา” ดังกล่าวนี้

ทุกบริษัทลงเงินเป็นหลักทรัพย์ที่มีทั้งเงินสดและหลักทรัพย์รัฐบาลเริ่มต้นรายละ 10 ล้านดอลลาร์ และจะมีการเพิ่มสัดส่วนขึ้นตามลำดับต่อไป ขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณของการใช้เงินลิบราในอนาคต ณ จุดที่สำคัญจุดใดจุดหนึ่ง อาทิ เมื่อเมื่อมูลค่าของตลาดถึงระดับ 1,000 ล้าน หรือเมื่อมี “ลูกค้า” ใช้เงินสกุลนี้ถึงระดับอย่างน้อย 20 ล้านคน เป็นต้น

แม้จะมีตัวแทนอยู่ในสมาคม แต่เฟซบุ๊กและบริษัทผู้ก่อตั้งทั้งหมดจะค่อยๆ ปล่อยให้ “สมาคมลิบรา” เป็นอิสระในการบริหารจัดการ กำกับดูแล เงินสกุลนี้โดยอิสระ ยกเว้นในเวลานี้เรื่อยไปจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อยที่เฟซบุ๊กจะเป็นแกนหลัก เพื่อให้สามารถเปิดตัวใช้สกุลเงินนี้ให้ได้ภายในปี 2020 นี้เท่านั้น

การมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ค่าของเงินลิบรา ไม่วิ่งขึ้นลงปรู๊ดปร๊าดเพราะการเก็งกำไรเหมือนเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ แต่การที่เงินดิจิทัลอื่นๆ ไม่ผูกติดอยู่กับหลักทรัพย์เหมือนลิบรา ทำให้ปลอดจากการควบคุมกำกับดูแลใดๆ ของชาติใดชาติหนึ่ง

ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่า ลิบรา “ต้อง” เข้าข่ายที่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าอยู่ในข่ายไหนและใครคือหน่วยงานที่ต้องควบคุมและคุมอย่างไร?

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ ลิบราก็ยังคงเป็นเช่นเดียวกับสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ นั่นคือถูกออกแบบมาให้สิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดก็คือ “จำนวนเงิน” ที่ถ่ายโอนกันไปมาเท่านั้น ส่วนตัวผู้ส่งเป็นใคร ผู้รับคือใคร จะไม่มีใครรู้เห็น

ยกเว้นเฟซบุ๊ก หรือใครก็ตามที่เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าว ที่สามารถ “ใช้ประโยชน์” ข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของคนนับพันล้าน ได้เหลือเฟือทั้งในทางเปิดและในทางลับ

การไม่เปิดเผยตัวว่าใครส่งใครรับ ทำให้ลิบรายังคงตกอยู่ในข่ายเสี่ยงสูงมากที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงิน หรือทำธุรกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ

เฟซบุ๊กจะทำอย่างไรกับข้อมูลนี้ หรือจะปกป้องข้อมูลนี้ได้อย่างไร?

เพราะเมื่อดูจากประวัติการใช้ประโยชน์และการปกป้องความลับของผู้ใช้ของเฟซบุ๊กที่ผ่านมาแล้ว ยิ่งน่าเป็นกังวลมากขึ้นไปอีกหลายเท่านั่นเอง!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image