ชี้นโยบายรัฐเกาไม่ถูกที่คัน ยิ่งเยียวยา-จำนำ เกษตรกรยิ่งจน

นางสาวโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ภาคเกษตรมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยเพราะมีการจ้างงานสูง มีครัวเรือนในภาคเกษตรกว่า 5.9 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 16 ล้านคน แต่ขณะนี้ภาคเกษตรเผชิญปัญหาแรงงานสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะแรงงานสูงอายุจะไม่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากนัก ทำให้การเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ยังพบว่าการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรเน้นการเพาะปลูกพืชมหาชน หรือพืชที่นิยมปลูกเดิม ๆ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย และ ยางพารา แม้ว่าพืชเหล่านี้จะมีผลตอบแทนต่ำและมีความเสี่ยงสูง เพราะนโยบายของภาครัฐเกิดการบิดเบือนแรงจูงใจของเกษตรกรให้ไม่จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงการปลูกพืชหลายชนิด มีการปลูกพืชชนิดเดียวมากขึ้น เช่น นโยบายให้การเยียวยา นโยบายสนับสนุนต้นทุนและเมล็ดพันธุ์ที่เป็นพืชเดิม ๆ เกษตรกรจึงไม่ปรับตัวไปปลุกพืชที่ทำให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น และความเสี่ยงการเปลี่ยนไปปลูกพืชใหม่ทำให้เกษตรกรยังไม่กล้าเปลี่ยนไปทำสิ่งที่ได้ผลตอบแทนสูง

“ภาคเกษตรเป็นภาคส่วนใหญ่ของประเทศ มีผลต่อเศรษฐศาสตร์การเมือง นโยบายของรัฐยังต้องการให้น้ำหนัก อย่างไรก็ตาม นโยบายเกษตรของไทยจะต้องเปลี่ยนจากการบิดเบือนแรงจูงใจ การบิดเบือนกลไกตลาด เพราะขณะนี้เกษตรกรเชื่อว่าการปลูกพืชเดิม ๆ แม้ว่าจะเสียหายแต่รัฐต้องเข้ามาเยียวยา ซึ่งที่ผ่านมาปกติการปลูกข้าวสามารถเพาะปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง แต่พอรัฐบาลมีนโยบายจำนำข้าว เกษตรกรก็ปลูกข้าวเพิ่มเป็นปีละ 3 ครั้ง ทำให้มีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมากทำให้เกิดความเสี่ยงราคาต่ำ ดังนั้น รัฐต้องทำให้เกิดการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง เช่น เมื่อภาคเกษตรมีปัญหาแรงงานสูงอายุควรสร้างแรงจูงใจให้เด็กรุนใหม่มาทำการเกษตรเพิ่มขึ้น เช่น เกาหลีใต้ให้ทุนการศึกษาลูกเกษตรกรเพื่อให้กลับเข้ามาในภาคเกษตร ให้ทุนเกษตรกรไปศึกษาด้านเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้สร้างผลิตภาพมากขึ้น ควรส่งเสริมให้แรงงานเกษตรสูงอายุมีอาชีพเสริม หรือหากเลิกทำการเกษตรสามารถไปทำอาชีพอื่นได้ ควรสร้างตลาดประกันภัยสินค้าเกษตรที่ยั่งยืน การเข้าถึงการขายในตลาดล่วงหน้าเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง และภาครัฐควรสนับสนุนเอกชนให้พัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ” นางสาวโสมรัศมิ์ กล่าว

นายจิรัฐ เจนพึ่งพร เศรษฐกรอาวุโส กลุ่มงานนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. กล่าวว่า หากพิจารณานโยบายของรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหาร พบว่ายังเป็นนโยบายที่จะเข้าไปดูแลสินค้าเกษตรเดิม ๆ ที่ผลตอบแทนต่ำ ทำให้เกษตรกรเพาะปลุกพืชเดิมมากขึ้น ๆ ไม่ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชให้ได้ผลตอบแทนสูง แทนที่จะมีการส่งเสริมหรือดูแลกลุ่มที่เพาะปลูกพืชให้ได้ผลตอบแทนสูง ดังนั้น นโยบายภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญมาก และหากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ราคาสินค้าเกษตรก็ไม่ได้ดีขึ้น ขณะที่การเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช รัฐบาลไม่ได้ให้เปล่าเป็นการสร้างหนี้ให้เกษตรกรทางอ้อมทำให้เป็นหนี้โดยไม่รู้ตัว

“เข้าใจภาครัฐที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่มีความยากจน แต่การเข้าไปเยียวยาจนทำให้เกิดการบิดเบือนจะยิ่งทำให้เกษตรกรจนลงจนลง ควรมีการปรับเปลี่ยนให้สวัสดิการด้านอื่น และมาตรการภาครัฐควรมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อให้เกษตรกรที่ยังทำได้สามารถไปได้รอด แต่หากไม่รอดจริง ๆ อาจจะได้รับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการคนจน” นายจิรัฐ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image