คิดเห็นแชร์ : อุตสาหกรรมโรบอต สร้างได้…ไม่ไกลเกินฝัน!

สวัสดีครับ…วันนี้ผมจะชวนทุกท่านมาปรับโหมดเข้าสู่โลกเทคโนโลยีแห่งอนาคต นั่นก็คือ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งหลายวงการได้นำมาใช้ทำงานแทนที่มนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม            โรงพยาบาล ร้านอาหาร หรือแม้แต่วงการสื่อสารมวลชนที่มีการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเป็นผู้ประกาศข่าวให้เห็นกันบ้างแล้ว

และนับวันเจ้าเทคโนโลยีสุดล้ำเหล่านี้จะยิ่งถูกพัฒนาให้มีความฉลาดมากขึ้น มีความแม่นยำมากขึ้น และสามารถทำอะไรหลายอย่างได้เหมือนมนุษย์มากขึ้น หรือบางครั้งอาจจะเหนือกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำ

แฟนๆ คิดเห็นแชร์บางท่านอาจจะมองว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์ หรือ โรบอต (Robot) เป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมบอกได้เลยว่าเจ้าโรบอตและระบบอัตโนมัติต่างๆ (Automation) กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะขึ้นมาช่วยให้การทำงานและการใช้ชีวิตของมนุษย์เราให้ง่ายขึ้น..แต่ประเด็นที่ต้องขบคิดกันต่อก็คือ…เราจะเข้าถึงอุตสาหกรรมไฮเทคนี้ได้อย่างไร?? แล้วเราจะเริ่มต้นจากตรงไหน?? ผมจึงอยากจะแชร์ให้ทุกท่านเห็นว่า โอกาสก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีโรบอตอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน

ก่อนอื่นผมคงต้องเกริ่นให้ฟังคร่าวๆ ถึงมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันและขับเคลื่อนมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมภายในประเทศปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตของตนเองมากขึ้น ควบคู่กับการสร้างนักออกแบบและติดตั้งระบบ หรือที่เรียกกันว่า เอสไอ (SI : System Integrator) ให้เพียงพอกับความต้องการดังกล่าว โดยปักธงไว้ว่าเราจะเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้หุ่นยนต์รายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนให้ได้ภายในปี 2569 ซึ่งหนทางหนึ่งที่จะไปให้ถึงจุดหมายนั้น คือ เราจำเป็นต้องมีกลไกที่ช่วยเชื่อมโยงความต้องการของฝั่งผู้ผลิตและผู้ใช้ให้ได้ก่อน เพื่อให้เกิดตลาดภายในประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อๆ ไป โดยกลไกที่ว่าคงหนีไม่พ้นการสร้างพื้นที่กลางสำหรับเป็นที่พบปะกันของผู้เล่นแต่ละฝั่ง ในลักษณะของดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ซึ่งตอนนี้ได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแล้ว นั่นก็คือ Industrial Transformation Platform หรือ ไอทีพี (ITP) อธิบายง่ายๆ ก็เปรียบคล้ายกับเป็นตลาดออนไลน์ แบบ Amazon หรือ Airbnb แต่เปลี่ยนจากการขายสินค้าหรือบริการที่พัก เป็นการเชื่อมโยงการให้บริการของเอสไอในการออกแบบและปรับปรุงการผลิตด้วยการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และออกแบบระบบอัตโนมัติ

Advertisement

ถึงตรงนี้…ชาวคิดเห็นแชร์คงมีคำถามว่า แล้วแพลตฟอร์มไอทีพีทำงานกันอย่างไร?? ผมก็ขอตอบเลยครับว่า แพลตฟอร์มนี้เป็นการทำงานร่วมกันของพันธมิตรทุกฝ่าย ทั้งฝั่งดีมานด์ (Demand side) คือ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่กำลังคิดที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานคน และฝั่งซัพพลาย (Supply side) คือ กลุ่มเอสไอ       ผู้ผลิตหุ่นยนต์ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ผู้ผลิตเครื่องจักร รวมถึงฝ่ายสนับสนุน เช่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ฝั่งดีมานด์กับฝั่งซัพพลายมาเจอกันแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงโปรแกรมสนับสนุนมากมาย เพียงแค่กดคลิกเดียวในระบบ หรือจะพูดให้อินเทรนด์หน่อย ก็คือ “One Click for All”

ไม่ว่าจะเป็นการขอรับการส่งเสริมการลงทุน การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร การขอรับคำปรึกษาทั้งด้านการเงินและด้านเทคโนโลยี การประเมินความพร้อมและความคุ้มค่าในการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การจัดหาแหล่งเงินทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเอสเอ็มอี (SME Bank) เอ็กซิมแบงก์ (EXIM Bank)

จากเรื่องราวที่ผมได้แชร์ในวันนี้ ผมอยากให้ทุกท่านที่เปิดใจให้กับสิ่งใหม่ๆ ลองเข้าไปใช้งานแพลตฟอร์มไอทีพีได้ที่ http://itp-thaiindustry.com ซึ่งใช้ง่ายเหมือน Line App เพียงแค่ท่านกรอกข้อมูล ระบบจะช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ตอบโจทย์การทำธุรกิจ และยังช่วยหาโซลูชั่นส์ (Solutions) ที่เหมาะสมกับศักยภาพความพร้อมและงบประมาณ เพื่อเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจของท่าน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image