พาชม 10 เทคโนโลยียานยนต์อัจฉริยะ ปฎิวัติโลกแห่งการขับขี่ จาก ‘คอนติเนนทอล’

สําหรับผู้อ่านชาวไทยที่ไม่ได้คร่ำหวอดในวงการรถยนต์มากนัก ถ้าพูดถึง “คอนติเนนทอล” ส่วนใหญ่คงจะนึกถึงผู้ผลิตยางระดับพรีเมียม แต่หลังจากอ่านบทความนี้จบ เชื่อว่าผู้อ่านคงจะเปลี่ยนความคิดทันที

เพราะคอนติเนนทอล เป็นบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยียานยนต์ระดับโลก มีธุรกิจถึง 5 กลุ่มธุรกิจด้วย ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ เป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มธุรกิจของบริษัท

ล่าสุดได้เชิญชวน “มติชน” ไปร่วมงาน Tech Show 2019 ที่เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี เพื่อชมการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับยานยนต์ล่าสุดของบริษัท ประเด็นหลักๆ ประกอบด้วย ระบบขับขี่อัตโนมัติ ระบบการเชื่อมต่อ และระบบไฟฟ้า

เอลมาร์ ดีเกนฮาร์ท

ดร.เอลมาร์ ดีเกนฮาร์ท ประธานกรรมการบริหารของคอนติเนนทอล พยากรณ์เทรนด์การพัฒนารถยนต์ในอนาคต ว่าจะมุ่งการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ก่อนเล่าถึงโจทย์หลักคอนติเนนทอล ว่า เป้าหมายหลัก คือการทำอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดความตึงเครียดขณะอยู่ในยานยนต์ โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ทุ่มเงินไปกว่า 3,000 ล้านยูโร เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ต่างๆ ให้ล้ำหน้าขึ้นไปอีก

Advertisement

“บริษัทกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตั้งแต่ที่ได้ก่อตั้งมา เป้าหมายของบริษัท คือ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งเป้าหมายนี้ บริษัทไม่เพียงแต่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะป้องกันภาวะโลกร้อน แต่ยังรวมถึงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยเช่นกัน” ดร.ดีเกนฮาร์ทกล่าว

สำหรับสถานที่จัดงานนั้น จะมีในส่วนนิทรรศการที่โชว์เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ หรือเทคโนโลยีภายในตัวรถยนต์ แต่ไฮไลต์จะอยู่ที่การทดลองจริง โดยคอนติเนนทอลจัดรถทดสอบตามสถานีต่างๆ ให้ผู้สื่อข่าวทดสอบและเห็นด้วยตัวเองว่าระบบต่างๆ เมื่อนำมาใช้งานจริงแล้วจะทำงานอย่างไร

เริ่มจาก 48-Volt High-Power Electric Motor หรือมอเตอร์ไฟฟ้าใหม่ มีขนาด 48 โวลต์ 30 กิโลวัตต์ เพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้นด้วยระบบไฟฟ้าแรงดันสูงสำหรับยานยนต์ไฮบริด ชาร์จไฟกลับค่อนข้างเร็ว ช่วยให้รถไปได้ไกลขึ้น ราคาสมเหตุสมผล นั่นหมายความว่าคนจำนวนมากจะมีโอกาสใช้มันในเร็วๆ นี้

คอนติเนนทอลยังให้ทดลองขับรถคันดังกล่าว ประทับใจในอัตราเร่งที่ดี แม้บรรทุกเต็มอัตรา การชาร์จไฟกลับคืนค่อนข้างไว รู้สึกถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

48-Volt High-Power Electric Motor หรือมอเตอร์ไฟฟ้าใหม่ มีขนาด 48 โวลต์ 30 กิโลวัตต์

 

 

ต่อมาเราไปดูระบบเบรกอัตโนมัติ เซ็นเซอร์พัฒนาใหม่ เป็นเซ็นเซอร์เรดาร์ระยะใกล้ที่มีความละเอียดสูงในการตรวจจับสภาพแวดล้อมภายนอกแบบ 360 องศา สนับสนุนระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน ทดสอบให้เห็นชัดๆ คือเมื่อมีผู้ขี่จักรยานเข้ามาใกล้รถยนต์จากด้านหลัง ขณะกำลังเลี้ยวขวา มันจะเบรกโดยอัตโนมัติ เรียกระบบนี้ว่า Short Range Radar-Right Turn Assist

(ชมคลิปวิดีโอตัวอย่างที่นี่)

ทั้งนี้ ระบบเบรกอัตโนมัติแบบเดิมจะมีเซ็นเซอร์ติดด้านหน้า และรถจะเบรกเมื่อเจอคนข้ามถนน หรือเจอรถจอดด้านหน้า แต่เทคโนโลยีนี้เป็นการพัฒนาก้าวขึ้นไปอีก เพราะมีเซ็นเซอร์จับด้านข้างและด้านหลังของรถด้วย เหมาะอย่างยิ่งกับเมืองที่มีรถจักรยานยนต์ รถจักรยานยนต์เยอะ

จากนั้นเราไปทดลองนั่งรถรถยนต์ไร้คนขับ หรือที่เรียกว่า Robo-Taxi มีเซ็นเซอร์เรดาร์ตรวจจับรอบคัน นั่งหรือยืนได้ประมาณ 10 คน ใช้ขนส่งระยะสั้นได้ค่อนข้างดี เบรกได้เองเมื่อมีคนตัดหน้า สามารถเลี้ยว เพิ่มหรือลดความเร็ว เมื่อมีรถขับอยู่ด้านหน้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แสดงจอแสดงผลเรดาร์ให้ดูพบว่ามันทำงานค่อนข้างละเอียด เหมาะสำหรับการโดยสาร ขนส่งคนในเมือง

 

 

 

ต่อมาเป็นระบบผู้ช่วยเสียงอัจฉริยะ หรือที่เรียกว่า Smart Voice Assistant ที่สามารถตอบสนองต่อคำสั่งเสียงที่เป็นธรรมชาติจากผู้ขับขี่ คล้ายๆ เราคุยกับคนหรือเพื่อนมากขึ้น ฉลาดในการประมวลผล เข้าอกเข้าใจเรามากขึ้นทีเดียว เพิ่มความปลอดภัยไม่ต้องละสายตาไปกดปุ่มต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ทดสอบให้ดู เช่น ระหว่างเรากำลังสั่งระบบนำทางให้ไปทำงาน แต่จู่ๆ เราเกิดอยากกินกาแฟก่อน ก็บอกมาเลยว่าอยากกินกาแฟก่อนไปทำงาน ระบบก็จะเปลี่ยนให้โดยเราไม่ต้องกดยกเลิกคำสั่งเก่าก่อน เป็นต้น มันสามารถเข้าใจคำสั่งซ้อนสองคำสั่ง ขณะที่เราสั่งในประโยคเดียวนั่นเอง

รวมถึงจอแสดงผลที่คอนติเนนทอลพัฒนาขึ้นใหม่เป็นแบบสามมิติ (3D) ที่มีข้อดีคือ ความสวยงาม ทำให้ระบบนำทางสมจริงมากขึ้น

ระบบผู้ช่วยเสียงอัจฉริยะ Smart Voice Assistant

จากนั้นเราไปดูกระจกปรับแสงได้ หรือ Intelligent Glass Control ที่ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า สั่งงานได้อย่างง่ายดาย สามารถปรับเปลี่ยนระดับความโปร่งใสของหน้าต่างที่นั่งผู้โดยสารได้ตามความต้องการ เพื่อความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงแสงอาทิตย์จากด้านนอก ซึ่งทำให้ประหยัดพลังงานของเครื่องทำความเย็นในรถ

ส่วนนวัตกรรมด้านยางนั้น คอนติเนนทอลนำเสนอยางรุ่นใหม่ปรับความดันลมยางได้ แถมยังซ่อมตัวเองได้ถ้าตะปูตำ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ถ้าท่านขับรถไปเหยียบตะปู จังหวะดึงตะปูออก ยางจะอุดรอยรั่วตัวเองโดยอัตโนมัติ เพราะภายในเนื้อยางมีชั้นของเหลวที่ค่อนข้างเหนียว ขณะดึงตะปูออกมันจะช่วยอุดให้ ขับรถไปต่อได้ใช้จนหมดอายุยาง นอกจากนี้ ยังมีการติดระบบเซ็นเซอร์ภายในตัวอย่าง ช่วยแสดงผลทันที หากยางข้างใดถูกตะปูตำ หน้าจอจะขึ้นเป็นสีแดง และเมื่อมันอุดตัวเองเสร็จแล้วก็จะขึ้นเป็นสีเขียว

หลังบรรยายเสร็จเจ้าหน้าที่ก็ทดลองทำให้ดู ตามที่กล่าวมาทั้งหมด น่าสนใจไม่น้อย

คอนติเนนทอลยังโชว์การพัฒนาระบบยางที่ปรับความดันลมยางได้ เมื่อต้องเจอกับสภาพถนนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยติดอุปกรณ์สูบลม-ปล่อยลมไฟฟ้าไว้ในล้อ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ได้สมดุลและประหยัดพลังงานขณะรถวิ่งมากขึ้น

เสาไฟฟ้าอัจฉริยะ

ต่อมาเราไปดู สี่แยกจราจรอัจฉริยะ หรือ Intelligent Intersection หลักการคือ สี่แยกจะถูกติดตั้งด้วยอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น กล้อง เรดาร์ ระบบควบคุมการจราจรสี่แยกอัจฉริยะ (Intelligent Intersection) จะทำหน้าที่สื่อสารกับยานยนต์เมื่ออาจเกิดสถานการณ์การชนกันบนท้องถนน หรือชนผู้เดินทางเท้ากรณีเป็นมุมอับมองไม่เห็น ช่วยเพิ่มความปลอดภัยทั้งคนเดินเท้า ทั้งคนขับ เรื่องนี้ทดลองทำจริงแล้ว ที่สหรัฐและจีน เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เหมาะกับ Smart City ตามมาด้วย โคมไฟอัจฉริยะ หรือ Intelligent Street Lamp พัฒนาเสาไฟฟ้าให้เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับเมืองอัจฉริยะในอนาคต มีเซ็นเซอร์ที่สามารถเปิด-ปิดไฟบนท้องถนนได้แบบอัตโนมัติ ระบุพื้นที่ว่างสำหรับจอดยานยนต์ วิเคราะห์สภาพคล่องการจราจรบนท้องถนนด้วย

เทคโนโลยีเหล่านี้น่าสนใจ เพราะเป็นการคิดแบบองค์รวมมากขึ้น ไม่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์แบบแยกชิ้นส่วน ใช้เพื่อส่วนตัวคนคนเดียว แต่เป็นสังคมได้ประโยชน์เรื่องความปลอดภัย ผู้บริหารเมืองที่มีวิสัยทัศน์ น่าจะสนใจระบบนี้

สี่แยกจราจรอัจฉริยะ

ส่วนในเรื่องเทคโนโลยีของกล้องนั้น คอนติเนนทอลนำเสนอ Road and Driver Camera ที่จะมีการติดตั้งกล้องด้านหน้ารถเป็นส่วนหนึ่งของระบบช่วยเหลือการขับขี่ขั้นสูง ส่วนภายในรถจะมีกล้องอินฟราเรดเพื่อตรวจสอบผู้ขับขี่ยานยนต์ว่ามองถนนขณะขับขี่โดยที่ไม่หันไปมองด้านข้างหรือด้านหลัง ดูโทรศัพท์ หรือหันไปพูดคุยกับผู้โดยสาร และทำให้เกิดอุบัติเหตุในภายหลังได้

อีกระบบที่น่าสนใจคือ ระบบเตือนภัยถนนล่วงหน้า ช่วยเบรก ควบคุมการทรงตัว หรือที่เรียกว่า Preview ESC ตรงนี้จะเป็นระบบควบคุมเสถียรภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ESC) คอยปรับระดับความเร็วของยานยนต์ตามสภาพถนนแบบเรียลไทม์ เป็นการรวมเทคโนโลยีระบบเรดาร์รุ่นใหม่และเซ็นเซอร์กล้องเพื่อการประมวลผลข้อมูลบนระบบคลาวน์ จะแจ้งเตือนผู้ขับขี่ขณะกำลังเลี้ยวทางโค้งถ้าวิ่งด้วยระดับความเร็วที่มากเกินไปบนสภาพถนนที่ไม่สมบูรณ์แบบ เช่น พื้นถนนที่เปียกชุ่มด้วยน้ำ ระบบจะทำการปรับเปลี่ยนระดับความเร็วของยานยนต์ให้มีความปลอดภัยและความสะดวกสบาย

หลังจากบรรยาย เจ้าหน้าที่ชาวเยอรมันนำผู้สื่อข่าว นั่งรถเพื่อไปทดลองระบบ ครั้งแรกเป็นการขับด้วยความเร็วสูงประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าโค้งบนถนนเปียก โดยไม่มีระบบเตือน จะพบว่ารถเสียอาการ และควบคุมยากอย่างชัดเจน ต่อมาเมื่อเปิดระบบ แต่ความเร็วเท่าเดิม ระบบจะเตือนให้เบรก ถ้าไม่เบรก ระบบดังกล่าวจะทำงาน ช่วยให้เข้าโค้งได้อย่างปลอดภัย (การทดลองทำบนสนามปิด ควบคุมความปลอดภัยเข้มงวด)

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นดูเหมือนการสั่งการหลายเรื่องจะขึ้นตรงกับซอฟต์แวร์มากขึ้น คอนติเนนทอลจึงพัฒนา ระบบ EB cadian Sync Demo ที่ใช้ในการรวมโปรแกรมบนแพลตฟอร์ม มีความน่าเชื่อถือ ปรับการใช้งานง่าย และปลอดภัยในการอัพเดตซอฟต์แวร์และเฟิร์มแวร์ผ่านทางอากาศหรือที่เรียกว่า Over the Air (OTA)

คอนติเนนทอลยังพาเราไปทดลองขับรถที่ทางคอนติเนนทอลมีส่วนร่วมพัฒนาระบบต่างๆ รวมถึงสมรรถนะยางรุ่นใหม่ตลอดวัน

นอกจากความน่าสนใจมากกว่าเรื่องเทคโนโลยี คือ การให้คุณค่ากับสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้น เพราะเทคโนโลยีต่างๆ นั้น มีแนวโน้มจะไม่ได้ตอบสนองประโยชน์ส่วนตัวของผู้ขับขี่อย่างเดียวอีกแล้ว แต่เป็นการออกแบบระบบที่คำนึงถึงส่วนรวม และความปลอดภัยของผู้ใช้รถคนอื่นด้วย

นี่แหละครับ ที่บอกว่าคอนติเนนทอลไม่ได้มีแค่ยาง

————-
ขอขอบคุณ : ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ แบงคอก จำกัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image