ไฮสปีดเทรนไทย–ญี่ปุ่น งบบาน 5.3 แสนล้านบาท ผลศึกษาไม่คุ้มค่าทางการเงิน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับรองอธิบดีกรมการรถไฟของญี่ปุ่นว่า ทางญี่ปุ่นรายงานผลการศึกษาขั้นกลางในส่วนของมูลค่าลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือระบบรางไทย-ญี่ปุ่น โดยพบว่ามีความคุ้มค่าด้านสังคมและเศรษฐกิจ แต่อาจจะยังไม่คุ้มค่าด้านการเงิน ดังนั้นทางญี่ปุ่นจึงเสนอให้ไทยเร่งศึกษาการพัฒนาพื้นที่ข้างทาง เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าทางการเงิน

นายอาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เร่งศึกษาและจัดทำแผนแม่บท(มาสเตอร์แพลน) เพื่อพิจารณาศักยภาพของเมืองริมทางรถไฟ รวมไปถึงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางให้ชัดเจนภายใน 1 ปี ส่วนประเด็นมูลค่าโครงการตอนนี้เป็นเพียงการศึกษาขั้นต้น โดยยังมีบางประเด็นที่ญี่ปุ่นศึกษามาไม่ตรงกับผลการศึกษาของไทย ทำให้มูลค่าลงทุนยังสูง ยังต่ำกว่ากัน ไทยจึงขอให้ญี่ปุ่นกลับไปศึกษาและนำมาเสนอใหม่

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า รูปแบบการลงทุนเบื้องต้นญี่ปุ่นเสนอให้รัฐลงทุนในส่วนงานก่อสร้าง และตัวระบบ ส่วนตัวรถ และการบริหารจัดการ มี 2 ทางเลือกคือ 1. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ตั้งบริษัทลูกเข้ามาบริหาร และ 2.เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนในรูปแบบพีพีพี โดยไทยเสนอญี่ปุ่นแบ่งช่วงพัฒนาเป็น 2 ช่วง คือ 1.กรุงเทพฯ – พิษณุโลก และ 2.พิษณุโลก – เชียงใหม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ญี่ปุ่นเสนอมูลค่าโครงการมาที่ 5.3 แสนล้านบาท สูงจากวงเงินที่ไทยเคยศึกษาไว้ว่าจะลงทุน 4.4 แสนล้านบาท หรือสูงกว่า 9 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงขอให้ญี่ปุ่นกลับไปพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะวงเงินก่อสร้าง ญี่ปุ่นให้แยกราง(แทร็ค)ตั้งแต่แนวเส้นทางบางซื่อ–บ้านภาชี ทำให้มูลค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น ขณะผลการศึกษาของไทยใช้แทร็คในช่วงดังกล่าวร่วมกับรถไฟไทย–จีนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยจะมีการประชุมความคืบหน้าโครงการอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายนนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image