กสทช.ยันได้ข้อยุติช่วยทีวีดิจอตอล3ก.พ.นี้-เอกชนวอนแก้เงื่อนไขออกอากาศยืดอายุใบอนุญาต

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดภายหลังการประชุมคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอล ครั้งที่ 2 ว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มกราคม ทาง กสทช. ได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมแก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอล ประกอบด้วย ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน สถาบันการเงิน กระทรวงการคลัง สำนักงานกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอล ซึ่งในครั้งนี้ได้มีการพูดคุยกันใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การเลื่อนชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 3 ที่มีกำหนดชำระในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจากการหารือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงยืนยันที่จะชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 3 มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ขอให้มีการเลื่อน ประกอบกับหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาครัฐก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่ในประเด็นดังกล่าว ทางสำนักงาน กสทช.จะส่งเรื่องให้บอร์ด กสทช.พิจารณา พร้อมเหตุผลประกอบ เช่น การวางโครงข่ายล่าช้า และการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอาช่วงเวลาไพรม์ไทม์ไปออกอากาศรายการ คสช.

นายฐากรกล่าวว่า ประเด็นที่ 2.เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาในใบอนุญาต ซึ่งทางกฎหมายกำหนดให้อายุใบอนุญาตสูงสุดอยู่ที่ 15 ปี ทางผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลได้เสนอให้เปลี่ยนเงื่อนไขใบอนุญาต ว่าการออกอากาศช่วงที่ผ่านมาให้เป็นแค่การทดลองออกอากาศ ยังไม่ได้เริ่มนับ 1 ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ทางสำนักงาน กสทช.จึงให้ทางผู้ประกอบทำรายละเอียดมานำเสนออีกครั้ง เพื่อนำข้อมูลไปเสนอยังหน่วยงานตรวจสอบ และ 3.ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้งหมดขอให้ลดค่าใช้งานโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน แต่ปรากฎว่าผู้ให้บริการโครงข่ายภาคพื้นดินทั้ง 3 ราย คือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีบีเอส บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ไม่ยินยอม เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก หากจะต้องได้จริงก็ต้องหลังปี 2560 ไปแล้ว ซึ่งทาง กสทช.จะเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณาอีกครั้งว่าลดได้หรือไม่ เนื่องจากตามกฎหมายระบุไว้ว่าค่าเช่าใช้โครงข่ายต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของทางผู้ให้บริการเป็นหลัก

“จะมีการนัดหารือกับทุกฝ่ายอีกครั้งในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ ในประเด็น การคืนใบอนุญาตโดยไม่ชำระเงินในส่วนที่เหลือ, การจัดเรียงช่องใหม่เหมือนกันทุกรูปแบบออกอากาศ, การประชาสัมพันธ์, การจัดระบบเรตติ้งใหม่ และไม่ให้ผู้ประกอบการรับภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพื่อให้ออกอากาศเหมือนกันทุกรูปแบบออกอากาศ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ มัสต์ แคร์รี่ โดยการหารือครั้งนี้ตั้งเป้าว่าน่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด จากนั้นจะเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้” นายฐากรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image