‘บีอีเอ็ม’ ชี้การขยายสัมปทานแก้ปัญหาข้อพิพาทได้หมด ระบุหากปล่อยไว้จะเสียหายมากกว่านี้

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชดเชยรายได้ ช่วงปี 2542-2543 ให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากทางแข่งขันกรณีก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต มูลค่ากว่า 4.3 พันล้านบาท ซึ่งคดีนี้จะมีผลต่อเนื่องจนจบสัมปทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ในปี 2569 ส่งผลให้เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ กทพ.เจรจายุติข้อพิพาทกับบริษัท เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐโดยเร็วที่สุด จนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 บริษัทและ กทพ.จึงได้บรรลุข้อตกลงยุติข้อพิพาททั้งหมด โดย กทพ.จะแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเพื่อขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ออกไปอีก 30 ปี แต่มีข้อแม้ว่าบริษัทจะต้องยุติข้อพิพาททั้งหมด ซึ่งประเมินแล้วมีความเสียหายกว่า 1.37 แสนล้านบาท และลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อแก้ปัญหารถติด รวมถึงการแก้ปัญหาจุดตัดจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 2 อีก 31,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแล (มาตรา 43) ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 และสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการเสนอให้ ครม.พิจารณา

“บริษัทมีข้อพิพาทระหว่าง กทพ.เกิดขึ้น ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการร่วมงานกันได้อย่างดี โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก 2 เรื่องหลักคือ กรณีที่เกิดการก่อสร้างทางด่วนยกระดับขึ้นมาแข่งขันกับบริษัทลูกของบริษัท ส่งผลให้มีรายได้ลดลง ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดในสัญญาจึงต้องการให้ กทพ. ชดเชยตามที่ระบุในสัญญาตั้งแต่ปี 2542 จนสิ้นสุดสัญญาในปี 2569 รวมถึงการที่บริษัทไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางได้ตามสัญญา ซึ่งกำหนดให้ปรับขึ้น 5 ปี 1 ครั้ง โดยมีเหตุผลหลักคือไม่ต้องการให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าเดินทางที่ปรับสูงขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทของการที่ กพท.ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาร่วมกันได้ โดยรวมแล้วข้อพิพาทระหว่างบริษัทและ กทพ.มีทั้งหมด 17 ข้อพิพาท ซึ่งเป็นคดีที่เกิดจาก 2 สาเหตุดังกล่าวทั้งสิ้น โดยขณะนี้มีข้อพิพาท 1 คดีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทพ.ชดเชยค่าเสียหายให้กับบริษัทแล้ว ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการสร้างทางด่วนมาแข่งขันกัน โดยที่ผ่านมามีหลายกรณีผ่านอนุญาโตตุลาการและมีการตัดสินให้ กทพ.ชดเชยให้บริษัท แต่ กทพ.อาจจะคิดว่ายังพอมีหนทางสู้คดี จึงยังไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว และปล่อยให้เรื่องเข้าสู่ศาลปกครองสูงสุดต่อไป ทำให้เมื่อมีการตัดสินคดีผ่านไป และพบว่าบริษัทชนะ ซึ่งอาจจะมีแนวโน้มชนะในคดีอื่นอีก จึงมีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติข้อพิพาททั้งหมด” นายพงษ์สฤษดิ์กล่าว

นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวว่า จากการประเมินค่าเสียหายเบื้องต้นของคดีผลกระทบทางการแข่งขัน จนสิ้นสุดสัมปทานแล้วพบว่า มีค่าเสียหายกว่า 1.09 แสนล้านบาท แต่บริษัทได้ประเมินใหม่จนเหลือเพียง 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าค่าเสียหายจริงค่อนข้างสูง รวมถึงเมื่อมีการทำสัญญาร่วมกันได้ จะถือว่าเป็นการยุติข้อพิพาททั้งหมดทันที โดยในอนาคตบริษัทจะไม่สามารถเรียกร้องหรือมีข้อพิพาทระหว่างกันอีก ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวถือว่า กทพ.ได้ประโยชน์สูงมาก เพราะไม่ได้มีการเสียประโยชน์ในส่วนใดทั้งสิ้น และถือเป็นการช่วยไม่ให้ กทพ.สร้างภาระให้กับภาครัฐมากจนเกินไป โดยในสัญญายุติข้อพิพาทนี้มีการนำจำนวนเงิน 5.8 หมื่นล้านบาทมาคำนวณเป็นสัญญาสัมปทาน จนได้ออกมาเป็น 30 ปี โดยมีเงื่อนไขคือ กทพ.จะต้องได้รับรายได้เท่าเดิม และไม่มัการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมจากประชาชา แต่บริษัทจะต้องบำรุงดูแลทางด่วนทั้งหมดที่มีอยู่ และลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้น 2 ในเส้นทางงามวงศ์วานถึงพระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร และก่อสร้างช่วงจุดตัดจราจรบริเวณอโศก 2 จุด รวมถึงขยายพื้นผิวจราจรบริเวณมักกะสันและพระราม 6 อีก 2 จุด ซึ่งรวมเป็นมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน โดยมีข้อแม้อีกว่าจะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม ไม่ว่าจะเลือกวิ่งในชั้น 1 หรือชั้น 2 เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน สำหรับตัวเลขมูลค่าของการก่อสร้างที่ดูสูงมากนั้น เป็นเพราะต้องก่อสร้างในพื้นที่ที่มีการใช้งานอยู่ตลอดเวลา จึงไม่สามารถก่อสร้างได้เต็มกำลังทั้งวัน โดยการทำสัญญาจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกทำเพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด และอีกรอบจะต้องให้ กทพ.ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้เสร็จภายใน 2 ปี หรือหากไม่ทันก็จะมีพิจารณาเพื่อขยายเวลาในการทำอีไอเออีกครั้ง โดยเมื่อผ่านแล้วบริษัทจะต้องก่อสร้างทางด่วนชั้น 2 ให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี แต่หากอีไอเอไม่ผ่านจริงๆ และบริษัทไม่สามารถสร้างทางด่วนชั้น 2 ได้ สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2578

“ยืนยันว่าไม่ใช่ค่าโง่ เพราะไม่ได้เกิดจากการทำสัญญาที่ไม่รอบคอบ ผิดพลาด หรือมีการทุจริตเกิดขึ้น แต่แค่ กทพ.ไม่สามารถทำตามสัญญาร่วมกันได้เท่านั้น ทั้งการแข่งขันและการไม่ได้ปรับขึ้นค่าทางด่วนตามสัญญา ถึงแม้จะเป็นเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนเดือดร้อน แต่เมื่อเกิดผลกระทบกับบริษัท ก็ต้องมีการชดเชยกันตามสัญญา เมื่อไม่มีการทำสัญญาก็เกิดข้อพิพาทและเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งเรียกว่าค่าเบี้ยวน่าจะเหมาะสมกว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าทางออกนี้ดีที่สุดแล้ว เพราะหากรอให้คดีทั้งหมดแล้วเสร็จ บริษัทอาจจะชนะอีกหลายคดี เพราะเชื่อมั่นในกระบวนการดำเนินงานที่ถูกต้องและยึดตามสัญญาทั้งหมด โดยหากประเมินแล้วถ้า กทพ.รอให้ถึงที่สุด อาจจะต้องชดเชยเป็นแสนล้าน ซึ่งมองว่า กทพ.ก็น่าจะพอรู้และมองภาพออก จึงไม่น่าจะรอให้เกิดความเสียหายถึงขนาดนั้นได้ ไม่อย่างนั้นคงไม่เกิดการเจรจากันขึ้น” นายพงษ์สฤษดิ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image