‘เอกชน-นักวิชาการ’ฉายภาพผลงานศก.2ปีรบ. วิ่งสู้ฟัดบนความท้าทายของเศรษฐกิจโลก

กว่า 2 ปีที่รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ภายใต้คำมั่นสัญญาในการวางรากฐานปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบ ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังถดถอยให้กลับคืนมานั้น “มติชน” จึงได้สอบถามความคิดเห็นของภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ ว่าการดำเนินงานมาถูกทางและสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ และในระยะเวลาที่เหลืออยู่ควรเร่งรัดมาตรการเพิ่มเติมเป็นพิเศษอีกหรือไม่

 

ส.อ.ท.แนะรัฐโฟกัสเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ถือว่าภาพรวมของประเทศยังคงดีอยู่ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงสามารถขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้รัฐบาลที่สามารถพลิกฟื้นความสงบมาสู่ประเทศ จนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ หลายอย่างก็ถือว่าเดินมาถูกทาง โดยเฉพาะการผลักดันพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อต่อยอดอีสเทิร์นซีบอร์ดให้แข็งแกร่งมากขึ้น ส่วนการส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนนั้นก็ถือว่ารัฐบาลทำเต็มที่แล้ว เหลือเพียงเอกชนจะตัดสินใจลงทุนหรือไม่

 

Advertisement

ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือ การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและอาหารที่ยังเป็นปัญหาอยู่ รวมทั้งควรที่จะเร่งแก้ไขกฎระเบียบการขนส่งข้ามแดน ให้รถจากประเทศไทยสามารถขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยการลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ ส่วนประเด็นการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน อยากให้รัฐบาลโฟกัสไปเลยว่าในแต่ละพื้นที่ควรที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางของอะไร ไม่ควรจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทุกพื้นที่ แต่ควรดึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่มาใช้ เช่น ศูนย์กลางบริการ ศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์ขนส่งและโลจิสติกส์

 

ทีดีอาร์ไอเตือนรัฐอย่ากระตุ้นใช้จ่าย

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า มองเห็นความพยายามของรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะความพยายามในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ทั้งมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และมาตรการสานพลังประชารัฐโดยการร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด และขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายควบคู่ไปด้วย อาทิ มาตรการช้อปช่วยชาติ และมาตรการเพิ่มวันหยุดช่วยชาติ จึงมีความกังวลว่ารัฐบาลจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ และหากจะออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนอีก อาจเป็นการสร้างภาระหนี้สินให้กับประชาชนและไม่ตอบโจทย์สำหรับตอนนี้

Advertisement

 

ส่วนนโยบายและมาตรการส่งเสริมภาคธุรกิจถือว่าน่ากังวลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนและแบบคลัสเตอร์ ที่รัฐบาลเลือกส่งเสริมแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจนทำให้ขาดความชัดเจนและไม่เกิดแรงจูงใจในการเข้าไปลงทุน ส่วนการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตต้องติดตามว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งไทยไม่มีศักยภาพมาก่อน หากต้องดึงทุนจากต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน ขอถามว่าแล้วภาคธุรกิจไทยจะได้ประโยชน์อะไร จึงอยากฝากให้รัฐบาลวางเป้าหมายในแต่ละอุตสาหกรรมของประเทศให้ชัดเจน ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนอยากให้รัฐบาลส่งเสริมตามลักษณะของธุรกิจแต่ละประเภทมากกว่าที่จะสนับสนุนแต่เรื่องภาษีเพียงอย่างเดียว อาทิ การส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิตอล รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรี มากกว่าที่จะมาเน้นเรื่องความมั่นคงเหมือนกับนโยบายซิงเกิลเกตเวย์ที่ทำอยู่

 

ผลักดันพีบีโอเสริมเขี้ยวเล็บภาครัฐ

สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ ถือว่ารัฐบาลทำได้ดีมาก เพราะที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในการแก้ไขกฎระเบียบและการออกกฎหมายเพิ่มเติมหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) การเงินการคลัง และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังควรเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการทำงานต่อไป โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดสถาบันวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภา (พีบีโอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ศึกษาและวิเคราะห์นโยบายและแผนการใช้งบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งต้องเร่งเดินหน้าประมวลกฎหมายภาษีที่ปัจจุบันมีความซ้ำซ้อนกันในหลายเรื่อง ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้เข้าสู่รัฐได้

 

ซีไอเอ็มบีแนะรัฐเร่งการลงทุนนำร่อง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาถือว่าทำเต็มที่ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศยังเผชิญกับ 2 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาของเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยเฉพาะการลงทุนจากภาคเอกชนที่น่าจะยังขยายตัวในระดับต่ำประมาณ 1-3% ถึงแม้ภาครัฐจะส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการลงทุน แต่เอกชนก็ยังไม่กล้าลงทุนเนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเป็นกลไกหลักในการนำร่องให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่ในขณะนี้ยังล่าช้า ให้เกิดขึ้นได้ภายในช่วงครึ่งปีหลัง และต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องนโยบายการส่งเสริมการลงทุนให้ทันต่อสถานการณ์แข่งขันระหว่างประเทศมากขึ้น อาทิ การสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากมาตรการด้านภาษี การเจรจาให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทเป้าหมายโดยตรง นอกจากนี้จะต้องสังคายนาและแก้ไขกฎหมายด้านการลงทุน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและอำนวยความสะดวกให้การค้าการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น

 

สรท.จี้รัฐเปิดเผยข้อมูลส่งออก

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ในส่วนของภาคส่งออกดูเหมือนรัฐบาลจะมีแผนงานค่อนข้างมากและหลายเรื่องเป็นแนวคิดที่ดี อาทิ แผนยุทธศาสตร์ 7 ข้อของคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) และแผนยุทธศาสตร์อื่นๆ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าภาคเอกชนจะยังไม่รู้ว่าภาครัฐทำอะไรไปแล้วบ้าง ทำแล้วไปถึงไหน สำเร็จมากน้อยแค่ไหน จึงอยากให้รัฐเปิดข้อมูลดังกล่าวให้ภาคเอกชนรับทราบ เพื่อที่จะได้หาแนวทางและปรับเปลี่ยนแผนร่วมกัน หากพบว่าการดำเนินงานประสบปัญหา ส่วนข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล คือ การสร้างสมดุลการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

 

หอการค้าเสนอรัฐมุ่งสร้างคน รอเศรษฐกิจฟื้น

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ กรรมการรองเลขาธิการและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า หากประเมินผลงานรัฐบาลภายใต้ คสช.ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีคะแนนค่อนข้างดี เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจในการทำงานสูงมาก แต่ต้องยอมรับว่าในขณะนี้สภาพแวดล้อมค่อนข้างไม่เอื้ออำนวยทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกที่ยังชะลอตัว และจากปัจจัยภายในที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของประชาชนลดลง ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะได้เร่งออกมาตรการต่างๆ มาเต็มที่แล้ว แต่เชื่อว่าทำได้เพียงแต่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น คงไม่สามารถช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจดีขึ้นมากนัก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงและเหนือการควบคุม จึงอยากให้รัฐบาลใช้อำนาจพิเศษที่มีอยู่เร่งผลักดันการสร้างทรัพยากรบุคลากรที่มีคุณภาพและนวัตกรรมขึ้นในประเทศ เหมือนกับโมเดลของเกาหลีใต้ที่เคยใช้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในผู้นำนวัตกรรมโลก เชื่อว่าหากทำได้สำเร็จจะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาวอย่างแน่นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image