ธปท.ผ่อนเกณฑ์แอลทีวี ช่วยอสังหาฯผงกหัว ดันครึ่งปีหลังเติบโต 5%

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายเกณฑ์มาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (แอลทีวี) โดยให้ผู้กู้ร่วมที่ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของบ้านให้ผ่อนปรนเสมือนว่ายังไม่เป็นผู้กู้ในครั้งนั้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้กู้ร่วมที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยให้ได้รับสินเชื่อตามความเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการโอนอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ดีขึ้นเล็กน้อย เพราะปัจจุบันกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่ขอสินเชื่อ ทำให้ผู้กู้กลุ่มนี้ได้กลับเข้ามากู้ในสัญญาแรกได้อย่างน้อย 3 หมื่นราย ซึ่งจะช่วยเรื่องการโอนได้ระดับหนึ่ง ส่งผลให้การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 จะดีขึ้นจากครึ่งปีแรกประมาณ 5% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ยังคงติดลบอยู่

“อย่างไรก็ตาม เดิมนั้นมีการคาดการณ์กันว่าในปีนี้ยอดโอนจะลดลงจากปี 2561 ประมาณ 17-20% แต่เมื่อ ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์แอลทีวีลงเชื่อว่า กทม.และปริมณฑลจะติดลบน้อยลงคือประมาณ 10% ขณะที่ต่างจังหวัดจะติดลบเพียง 4.8% และหากคิดเป็นภาพรวมของทั้งประเทศจะติดลบประมาณ 7.7%” นายวิชัยกล่าว

นายวิชัยกล่าวว่า ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.ศก.) มีมติเห็นชอบออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 3.1 แสนล้านบาทนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเงินดังกล่าวจะถูกส่งตรงไปยังรากหญ้า ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายทันที แต่คงไม่กลับมาถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ในเรื่องนี้มองว่ารัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ด้วย เพื่อให้ผู้ที่มีความพร้อมในการซื้อตัดสินใจซื้อ ซึ่งจะช่วยภาคเอกชนระบายสต๊อกได้ส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรการเดิมๆ โดยออกมาตรการให้เหมาะสมกับพื้นที่เป็นหลัก เพราะแต่ละพื้นที่คนซื้อมีพื้นฐานแตกต่างกัน โดยหากพื้นที่ใดมีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยทดแทนการเช่าก็จะต้องคลายกฎเกณฑ์แอลทีวีลง เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถซื้อได้ แต่หากพื้นที่ไหนมีการซื้อเพื่อเก็งกำไรค่อนข้างมาก ก็ไม่ต้องผ่อนเกณฑ์ให้

นายวิชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ หากภาครัฐหรือ ธปท.จะออกเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อมาคุมสินเชื่อโดยใช้เกณฑ์หนี้ต่อรายได้ หรือดีเอสอาร์นั้น ก็ควรออกมาในช่วงที่เหมาะสม ไม่ควรออกมาในช่วงนี้เพราะหากออกมาในช่วงนี้เท่ากับเป็นการซ้ำเติม โดยช่วงที่เหมาะสมคือต้องให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นก่อน

Advertisement

“หากมีการออกมาในช่วงนี้หรือเร็วๆ นี้ ก็เชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์จะแย่ลงอีก หลังจากที่มีการคาดหวังว่าช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นจากการออกกฎแอลทีวี และหากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลกระทบกับนโยบายบ้านล้านหลังได้ เพราะหากมีการใช้ดีเอสอาร์ที่นำค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาหักรายได้ จะทำให้ผู้ที่จะซื้อบ้านกลุ่มนี้ได้ต้องมีเงินเหลือไม่น้อยกว่าเดือนละ 4,800 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก” นายวิชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image