คนไทย-นักธุรกิจ หนุนรัฐเพิ่มเงินคนจน-เกษตรกร ชี้5ด.เร่งจ่าย2แสนล.จีดีพีถึงได้4%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลต่อเศรษฐกิจไทย จากประชาชนและนักธุรกิจหอการค้าไทยทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่กว่า 96% เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้านบาท มีเพียง 3.4% ที่ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดีรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการออกมากระตุ้น ทำให้ผู้รายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยเหลือคนจนและเกษตรกรได้ใช้จ่ายมากขึ้น

นอกจากนี้กลุ่มสำรวจ 88.3% เห็นว่ามาตรการเหล่านี้ได้ประโยชน์โดยตรงกรณีรัฐบาลจ่ายเงินเพิ่มให้กับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นต่อปีอีก 300 บาทต่อเดือน และอีก 200 บาท ให้กับผู้มรายได้ต่ำกว่า 1แสนบาทต่อปี และ 93.4% เห็นว่าได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุเพิ่มอีก 500 บาท ส่วน 30.6% เห็นว่าได้ประโยชน์จากการเพิ่มค่าเลี้ยงดูบุตรอีก 300 บาทต่อเดือน

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ 70.2% เห็นว่าตนไม่ได้ประโยชน์โดยตรงจากมาตรการส่งเสริมจังหวัดนอกภูมิลำเนา เช่น การแจกเงิน 1,000 บาท สิทธิขอเงินคืนอีก 10% จากค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไม่เกิน 3 หมื่นบาท ผ่าน g-wallet ไม่เกิน 3 พันบาท เพราะผู้ไม่มี g-wallet ไม่มีบัญชีกับธนาคารกรุงไทย ไม่รู้ว่าต้องไปขึ้นทะเบียนที่ไหน

ส่วนประเด็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย 89.5% เห็นว่าไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเนื่องจากรายได้ไม่พอธนาคารไม่น่าปล่อยสินเชื่อให้ เห็นว่าอนุมัติยากและใช้เวลานาน ส่วนมาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการ 73.8%เห็นว่าได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว แต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยระบุว่า เนื่องจากวงเงินเต็มแล้วไม่มีหลักทรัพย์อื่นค้ำ เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อยากต่อการเข้าถึง ไม่มีการผ่อนปรน
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ 66.5% เห็นว่าไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการสินเชื่อใหม่ได้แก่ สินเชื่อฉุกเฉิน รายได้ไม่เกิน 5หมื่นบาทต่อปี ส่วนสินเชื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหายรายละไม่เกิน 5หมื่นบาท 74.9% เห็นว่าไม่ได้ประโยชน์ด้วยเหตุผลว่ากู้เยอะแล้ว หนี้เก่ายังใช้ไม่หมด ไม่มีหลักทรัพย์ และคนค้ำ ขั้นตอนเยอะ ต้องมีหลักฐานเยอะ รายได้น้อย คาดว่าธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อ ส่วนสินเชื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหายรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท 74.9% เห็นว่าไม่ได้ประโยชน์ด้วยเหตุผล

Advertisement

ในส่วนมาตรการสนับสนุนต้นทุนการผลิตเพื่อปลูกข้าวนาปี 500 บาทต่อไหร่ ไม่เกิน 20 ไร่ เกษตรกร 60.7% เห็นว่าได้ประโยชน์โดยตรง แต่คนที่ไม่เห็นด้วยระบุว่า เพราะไม่ได้ปลูกข้าว และคิดว่าเงินน้อยเกินไป เกษตรกร 69.3% คิดว่าจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากกมาตรการพักหนี้เงินกองทุนหมู่บ้านของธกส.และออมสินระยะเวลา 1ปี ส่วนผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์โดยตรงเห็นว่ามีหนี้นอกระบบที่ต้องชำระต่อเนื่อง และบางส่วนไม่ได้เป็นหนี้กับธกส.และออมสินอย่างเดียว

นายธนวรรธน์  กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 39.8% เห็นว่ามาตรการต่าง ๆของรัฐที่ออกมาสามารถทำให้เศรษฐกิจปรับตัวได้ในระดับปานกลางเท่านั้น ขณะที่บางส่วนเห็นว่ามาตรการช่วยได้แค่บางกลุ่ม การเข้าถึงหรือการเข้าถึงค่อนข้าวยาก เช่น การแจกเงินท่องเที่ยว 1 พันบาท ไม่ได้ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นของกลุ่มที่ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการ เศรษฐกิจที่แย่มาจากการส่งออกที่แย่ รัฐบาลควรดูแลการส่งออก รายได้ยังคงอยู่ในระดับต่ำหรือไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ไม่แน่ใจในสถานการณ์ในอนาคต ทำให้ประชาชน35.8% เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลให้การจับจ่ายเพิ่มขึ้นใกล้เคียง33.8% ที่เห็นว่าการจับจ่ายเท่าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

ด้านการลงทุนของภาคธุรกิจ 42.6% เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง ด้านการท่องเที่ยว 40.5% , การจ้างงาน 44.9% ก็เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ 50.5% เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง หรือเท่าเดิม
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในส่วนนักธุรกิจหอการค้าส่วนใหญ่ 43.5% เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะสร้างสภาพคล่องให้ธุรกิจ เพิ่มอำนาจการซื้อให้ประชาชน และ 37.69% เห็นว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของจังหวัดในระดับปานกลาง ส่วนที่เห็นส่งผลกระทบน้อยเนื่องจากมาตรการกระจุกเฉพาะบางธุรกิจ เงินไม่ลงไปสู่รากหญ้าโดยตรง และ 54.6% เห็นว่ามาตรการเร่งด่วนกระทบต่อการใช้จ่ายในจังหวัดในระดับมากคือมาตรการประกันรายได้เกษตรกร

ส่วนการส่งผลต่อเศรษฐกิจของจังหวัด 43.9% เห็นว่ามาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนรวมถึงสนับสนุนการเปลี่ยนเครื่องจักรจะทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ 42.4% เห็นว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจของจังหวัดดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะที่ความเห็นด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อจังหวัดอย่างไร 46.2% เห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้สภาพคล่องธุรกิจในจังหวัดเพิ่มขึ้น 49.2% เห็นว่าปริมาณสินเชื่อจังหวัดจะเพิ่มขึ้น28.5% เห็นว่าการลงทุนของเอกชนในจังหวัดจะเพิ่มขึ้น และ 38.0% เห็นว่าการใช้จ่ายของจังหวัดจะเพิ่มขึ้น
สำหรับข้อเสนอแนะรัฐบาลควรเร่งมาตรการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วควรมีมาตรการที่ชัดเจนและประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบอย่างละเอียด ในการปฎิบัติงานของหน่วยงานรัฐอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงนโยบายได้เร็วมากขึ้น ระมัดระวังการทุจริตทีอาจจะเกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณ มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อให้ถึงมือประชาชน

 

“ จากการสำรวจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลวงเงิน 316,812 ล้านบาท ทั้งภาคเอกชนและประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดประโยชน์ในภาพรวมได้ แต่ต้องเร่งให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยรวดเร็ว ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกใช้จ่ายเม็ดเงินไม่เต็มที่ โดยไตรมาส3 มีเม็ดเงินเข้าระบบ 47,657 -61,020 ล้านบาท และไตรมาส4 มีเม็ดเงินเข้าระบบ 102,639 -122,381 ล้านบาท จะทำให้จีดีพีโตได้ 2.8-3% แต่หากไม่มีมาตรการอะไรออกมาและมีปัจจัยสงครามการค้ารุนแรงขึ้นอีก ทำให้จีดีพีโตเหลือ 2.6%
ส่วนกรณีที่สอง คือ รัฐบาลใช้จ่ายเต็มที่และมีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 3 และ 4 รวมกว่า 150,000 -183,000 ล้านบาท รวมกับมาตรการประกันรายได้และยกเว้นเก็บค่าวีซ่าจากนักท่องเที่ยว 18 ประเทศ กระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยเป็น 39.5 ล้านคน และค่าเงินทรงระดับ 30.7-30.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะมีผลต่อจีดีพีไตรมาสสุดท้ายโตได้ 4.0-4.5% และทำให้ทั้งปีโตได้ 3.0-3.4%
“ ทางศูนย์ฯจะยังติดตามการใช้มาตรการของรัฐ สถานการณ์และปัจจัยต่างๆอีกครั้ง ก่อนจะทบทวนตัวเลขคาดการส่งออกและเศรษฐกิจปี 2562 อีกครั้งในเดือนกันยายนนี้ “ นายธนวรรธน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image