สภาพัฒน์-หอการค้า แนะรัฐเร่งเบิกจ่าย-สร้างความเชื่อมั่นดึงต่างชาติลงทุน-หนุนท่องเที่ยว รับมือเศรษฐกิจโลกป่วน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบสงครามการค้า(เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยทั้งสองปัจจัยนี้จะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น เอกชนต้องมีการปรับตัวรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยในส่วนการส่งออกแม้ในหลาย ๆ ตลาดชะลอตัวแต่การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) ที่ยังมีความต้องการบริโภคและซื้อสินค้ากลุ่มนี้ยังขยายตัวได้ดี อาจจะมีการพิจารณาขายยสินค้าส่งออกใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐส่งเสริมและอยากส่งเสริมให้ผู้ประกอบการส่งออกมีการค้าขายกับซีแอลเอ็มวีเป็นสกุลเงินบาทมากขึ้น เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในส่วนตลาดส่งออกที่ยังมีโอกาสเติบโต เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ภาครัฐต้องช่วยสนับสนุนอำนวยความสะดวกและต้องมีการทำการตลาดมากขึ้น

นายกลินท์ กล่าวว่า ด้านการท่องเที่ยวโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถควบคุมได้ แต่ทำอย่างไรที่จะเน้นให้เกิดการท่องเที่ยวแบบคุณภาพ มีการใช้จ่ายการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ภาครัฐต้องมีการประชาสัมพันธ์จุดท่องเที่ยวและสถานที่เที่ยวใหม่ ตามนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้ลงไปในท้องถิ่นและช่องทางนี้เป็นช่องทางที่จะช่วยกระจายได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับและอำนวยสะดวกให้นักท่องเที่ยว ทั้งป้ายบอกทาง ถนน ทั้งนี้ ในส่วนการสนับสนุนของเอกชนได้มีการจัดสัมมนาและการประชุมของบริษัทในพื้นที่เมืองรองแล้ว แต่อยากให้ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่จำนวนมากมีการดำเนินการด้วยเช่นกันซึ่งจะช่วยหนุนรายได้เข้าท้องถิ่นได้เพิ่มมากขึ้น

“อีกเรื่องสำคัญ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งขระนี้รัฐบาลมีมาตรการออกมาแล้วช่วยเหลือในระยะสั้น แต่อีกส่วนที่สามารทำได้ คือ การเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐ หามีโครงการใดที่เบิกจ่ายได้อยากให้รีบดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทำไว้แล้ว ทั้งรถความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการอื่นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพราะเมื่อรัฐลงทุนเอกชนก็จะตามมาก รวมทั้ง อยากให้รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติเพราะขณะนี้นักลงทุนต่างชาติสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งจีน สหรัฐ เพื่อหนีความเสี่ยงจากสงครามการค้า นอกจากนี้ สถานการณืความวุ่นวายทางการเมืองที่ฮ่องกง อาจจะเป็นโอกาสที่ดีของไทย หากสามารถยกระดับและพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน หรือไฟแนนเชียลฮบ อีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคได้ ซึ่งจะสามารถดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย จากปัจจุบันที่อยู่ในสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งการค้าขายต่าง ๆ ก็จะผ่านสองประเทศนี้เป็นหลักโดยจากการพูดคุยนักธุรกิจญี่ปุ่นก็มีความสนใจที่จะตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยหากไทยมีความพร้อม เชื่อว่าหากมีการปรับตัวรองรับไทยจะสามารถรองรับความเสี่ยงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ หากได้รับผลกระทบอาจจะได้รับผลกระทบน้อย” นายกลินท์ กล่าว

ด้าน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า เพื่อลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังและสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีควรให้ความสำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ 1. การขับเคลื่อนการส่งออกในครึ่งปีหลังให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.0% แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกจะติดลบ 4.1% เพื่อให้ทั้งปีการส่งออกจะติดลบเพียง 1.2% โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น การขยายความร่วมมือทางการค้า โดยเฉพาะกับประเทศที่มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศมากขึ้น และการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก 2. การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงในประเทศจีนการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและรายได้สูง และการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น 3.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2562 ให้ไม่ต่ำกว่า 60.% การเบิกจ่ายจากงบเหลื่อมปีให้มีอัตราเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 70.0% การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และการเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

Advertisement

นายทศพร กล่าว่า 4. การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทย รวมทั้งชักจูงนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบให้ย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย การขับเคลื่อนโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ การผลักดันโครงการลงทุนที่ขอรับและได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว และการเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน 5.การดูแลเกษตรกร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก และ 6. การรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งการดำเนินนโยบายที่มีความสมดุลระหว่างมาตรการบริหารวัฏจักรเศรษฐกิจระยะสั้นกับมาตรการพัฒนาศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยคำนึงถึงสถานการณ์และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อไม่ให้บรรยากาศทางการเมืองและการดำเนินนโยบายเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image