แก้เกณฑ์ ‘บัตรคนจน’ สกัดมั่วนิ่ม เข้มดอดซื้อเหล้า

หลังรัฐบาลใจดีแจกเงินให้คนจนถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านราย คนละ 500 บาทไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แล้วมีข่าวว่าคุณตาวัย 70 ปี ที่ จ.บุรีรัมย์ นำเงินดังกล่าวไปซื้อเหล้าดื่มจนดึกดื่น พอเมาได้ที่แล้วขี่รถจักรยานยนต์เกิดพลัดตกสระน้ำเสียชีวิต

ยังมีอีกหลายกรณีที่คนได้รับเงินจากบัตรคนจนไปโพสต์บนโลกออนไลน์ ขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนค่าเหล้าเบียร์

รวมทั้งกรณีนายแบบที่ใช้ของแบรนด์เนม โพสต์ว่าเป็นหนึ่งในผู้ถือบัตรคนจน และกรณีคนเป็น “ดอกเตอร์” ก็ได้รับบัตรคนจนด้วย

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการแจกบัตรคนจนของรัฐบาลว่าไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ เพราะคนที่ได้รับนำไปซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น และบางคนไม่น่าจะมีคุณสมบัติได้รับบัตรคนจน

Advertisement

ล่าสุดรัฐบาลใช้งบกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน 3 มาตรการ คือ 1.แจกเงินให้ผู้ถือบัตรคนจนเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

2.ให้เงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 5 ล้านราย เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มเติม 500 บาทต่อคนต่อเดือน

3.ช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กว่า 8 แสนราย เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูบุตรให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มเติม 300 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน

เงินจากทั้ง 3 มาตรการสามารถกดเป็นเงินสดออกมาใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับโอนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ปรากฏว่าผู้ถือบัตรไปต่อคิวยาวเหยียดเพื่อรอกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จนเกิดปัญหาเงินหมดตู้ในหลายพื้นที่

ทั้ง 3 มาตรการเป็นส่วนเสริมของมาตรการหลักที่แจกให้เป็นรายเดือนอยู่แล้ว คือวงเงินในบัตรเพื่อใช้จ่าย ประกอบด้วย วงเงินซื้อของร้านธงฟ้าเดือนละ 200 บาท สำหรับผู้มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาทต่อปี และวงเงิน 300 บาท สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี วงเงินค่ารถเมล์เดือนละ 500 บาท ค่ารถไฟเดือนละ 500 บาท ค่ารถ บขส.หรือรถไฟฟ้าเดือนละ 500 บาท ส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน

สำหรับวงเงินในการซื้อของร้านธงฟ้านั้น กำหนดให้ซื้อสินค้า 3 กลุ่ม 1.สินค้าอุปโภคบริโภค 2.สินค้าเพื่อการศึกษา 3.วัตถุดิบเพื่อการเกษตร โดยไม่สามารถนำไปซื้อเหล้า เบียร์ และยาสูบได้ เพื่อไม่ให้ผู้ถือบัตรนำไปใช้ผิดประเภท

แต่วงเงินล่าสุด ที่เป็นมาตรการเสริมนี้ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องไปซื้อสินค้าอะไร เพราะรัฐบาลต้องการให้นำเงินไปใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้คุณตาวัย 70 ปี นำเงินที่ได้ไปซื้อเหล้าเบียร์กิน แล้วเกิดเหตุเศร้าที่ต้องเสียชีวิต จึงเกิดข้อกังขาถึงการใช้เงินรัฐบาลผ่านมาตรการดังกล่าว

อุตตม สาวนายน รมว.คลัง จึงสั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นำกรณีคุณตาวัย 70 ปี ไปพิจารณาปรับเกณฑ์การใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ เพราะการนำเงินไปซื้อเหล้ากินนั้น ถือเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ และเป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น

รมว.คลังยืนยันว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาช่วยเหลือค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย ล่าสุด ที่มีการเติมเงินเข้าไปในบัตร เพื่อยึดโยงกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากมีสัญญาณผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จึงต้องดูแลผู้มีรายได้น้อยให้ไปจับจ่ายใช้สอย เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้าน ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. เผยว่า สศค.กำลังรวบรวมรายชื่อผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่นำเงินไปใช้ผิดประเภท รวมถึงคนไม่จนจริงและไปโพสต์โชว์ในโลกออนไลน์ไว้หมดแล้ว ถ้ามีการลงทะเบียนเพื่อแจกบัตรรอบใหม่จะนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา ซึ่งมีแนวโน้มว่ากลุ่มคนดังกล่าวจะไม่ได้รับบัตร เนื่องจากใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

กลุ่มคนที่ใช้เงินผิดประเภทอาจมีระดับพันคนหรือหมื่นคน จากคนได้รับบัตรทั้งหมด 14.6 ล้านคน ถือว่าไม่มาก เพราะจะให้ทุกคนเป็นคนดีหมดคงยาก การแจกเป็นเงินให้นำไปใช้นั้นเพื่อให้มีอิสระในการใช้จ่าย เพราะการไปกำหนดว่าต้องไปซื้อของเฉพาะร้านธงฟ้านั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อให้กับสินค้าของเจ้าสัว ส่วนร้านค้าเล็กๆ ร้านขายผักในตลาดไม่ได้ประโยชน์ แต่พอแจกเงินให้ไปซื้่อของอะไรก็ได้ มีคนนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อีก หากพบการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์มากๆ ต่อไปรัฐบาลอาจไม่แจกเงินในลักษณะอย่างนี้อีกก็ได้

ส่วนกรณีคนไม่จนจริงได้รับบัตรด้วยนั้น “ลวรณ” บอกว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเงื่อนไขการลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ เพื่อให้บัตรอยู่ในมือคนที่จนจริงๆ โดยจะนำรายได้ของครอบครัวเข้ามาเป็นหนึ่งคุณสมบัติด้วย จากเงื่อนไขปัจจุบันคือมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 1 แสนบาท มีบ้านขนาดบ้านไม่เกิน 25 ตร.ว. หรือคอนโดขนาดไม่เกิน 35 ตร.ม. มีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเองไม่เกิน 1 ไร่ ส่วนที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 10 ไร่

แต่พบว่าผู้ได้รับบัตรขณะนี้บางรายอาจอยู่บ้านหลังโต เช่น แม่บ้าน เด็กนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่มีข้อมูลการถือครองทรัพย์สิน และไม่มีรายได้ เนื่องจากอาศัยอยู่กับสามี หรืออยู่กับพ่อแม่ที่มีฐานะดี

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการในพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับหมู่บ้าน เพื่อมาช่วยตรวจสอบผู้รับบัตรในพื้นที่ว่าจนจริงหรือไม่ รวมถึงเข้ามาช่วยคัดกรองผู้ที่สมควรได้รับบัตรสวัสดิการแต่รายชื่อตกหล่น หรือผู้ที่ได้รับบัตรอยู่แล้ว แต่ขาดคุณสมบัติ ต้องถูกคัดชื่อออกไป เพราะคณะกรรมการในระดับพื้นที่จะใกล้ชิดกับข้อมูล สามารถคัดกรองได้ดีที่สุด ดังนั้น คาดว่าจำนวนคนที่ได้รับบัตรสวัสดิการในรอบใหม่ น่าจะต่ำกว่า 10 ล้านคน โดยประเมินจากสถิติคนจนรายครอบครัวที่มีประมาณ 6-7 ล้านครัวเรือน

“กระทรวงการคลังหวังว่าเกณฑ์ใหม่ที่เข้มงวดขึ้น จะทำให้ตัวเลขคนจนรอบใหม่ที่มีรายได้น้อยจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน ลดลงจากปัจจุบันมีผู้ได้รับบัตรอยู่ 14.6 ล้านคน” ผู้อำนวยการ สศค.แจงถึงแนวทางปรับเกณฑ์การพิจารณาให้บัตรคนจนรอบใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริงกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image