คิดเห็นแชร์ : สงครามการค้าเขย่าโลก สะเทือนถึงเอสเอ็มอีไทย

เทรดวอร์ เขย่าโลกจริงๆ ครับ ผมนั่งดูกระดานหุ้นตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่มีทีท่าว่าตลาดจะกลับมา Pick up ได้ง่ายๆ สงครามการค้า สหรัฐ-จีน สั่นสะเทือนไปทั่วทุกภาคอุตสาหกรรม การค้าการลงทุน และส่งออก เรียกว่าทั่วโลกเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ ที่พึ่งพาการส่งออกอย่างกลุ่มประเทศในอาเซียน ผลพวงนี้ส่งผลต่อประเทศไทย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยเช่นกัน

นับตั้งแต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบาย “สหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน” และเปิดศึกสงครามการค้ากับประเทศจีน ในฐานะที่เป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐเป็นจำนวนมหาศาลในปี 2560 จีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐสูงถึง 2.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในปี 2561 จุดเริ่มสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอย่างเต็มรูปแบบ โดยประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561

แต่การขึ้นภาษีดังกล่าว ไม่ได้ทำให้การนำเข้าสินค้าจากจีนสู่สหรัฐลดลง รายงานจากกรมศุลกากรสหรัฐ   ระบุว่าปี 2561 จีนยังคงได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐสูงขึ้น 11.3% เทียบกับปี 2560 โดยจีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงถึง 3.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวเลขการส่งออกดังกล่าว ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์คงยืนนโยบายตอบโต้การค้ากับจีน ล่าสุดประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐจะมีผลบังคับใช้เดือนธันวาคมนี้ เลื่อนจากเดิม  วันที่ 1 กันยายน ขณะที่จีนตอบโต้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเช่นกัน

Advertisement

ท่าทีของสหรัฐยืนกรานจะทำสงครามการค้ากับจีนเพื่อผลทางการค้าและทางการเมืองของทรัมป์จะลงเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562 ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง อย่างน้อยหนึ่งปีนับจากนี้!

นั่นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการค้าและการส่งออกไม่ใช่เฉพาะสหรัฐและจีนเท่านั้น แต่เป็นแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ทั้งสหรัฐและจีนต่างวิ่งหาตลาดใหม่มาทดแทนยอดส่งออกของตนที่หายไป และรองรับผลความยืดเยื้อในอนาคต

ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ! ชัดเจนสุด คือ ภาคส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากการที่สินค้าจีนถูกส่งเข้าสู่ตลาดอื่นทั่วโลกเพื่อชดเชยการส่งออกไปยังสหรัฐ ที่มีแนวโน้มลดลงด้วยมาตรการที่  เข้มงวดขึ้นของรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกจากจีนมีราคาที่ถูกกว่าสินค้าส่งออกจากประเทศไทยในหลายประเภท ทำให้ภาคการส่งออกของไทยหดตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2561 ถึงปัจจุบัน แม้ตัวเลขการส่งออกปี 2561 ที่มีมูลค่ากว่า 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 6.7% แต่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าตั้งไว้ 8%

จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าทั้งปี 2561 สูญหาย 382.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งผลกระทบจากมาตรการทางตรงสหรัฐและผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานจีนที่ลดลง แต่ผล กระทบเชิงบวกจากการส่งออกทดแทนสินค้าจีนไปสหรัฐเพิ่มขึ้นก็ยังชดเชยไม่พอ และถึงวันนี้ส่งออกไทยก็ยังติดลบ

มูลค่าการส่งออกที่ลดลงดังกล่าว ส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจส่งออกในประเทศไทยโดยเฉพาะธุรกิจส่งออกขนาดกลางและเล็กที่มีสัดส่วนถึง 70% ของจำนวน 30,000 ราย แต่กลุ่มนี้ก็สร้างรายได้จากส่งออกไม่น้อยกว่า 30% ของการส่งออกรวมของไทยในแต่ละปี

การหดตัวลงของภาคการส่งออก ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็กต้องปรับตัวต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากการออกไปหาตลาดใหม่ชดเชยกับตลาดที่ถูกสินค้าจากคู่แข่งอย่างจีนชิงตลาดแล้ว ภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็กควรแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้นแทนการผลิตสินค้าพื้นฐานและเน้นราคามากกว่าคุณภาพ

พูดถึงการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าสูงหลายคนอาจจะคิดถึงการลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อพัฒนาสินค้า  ขณะที่การพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นไม่จำเป็นต้องลงทุนกับเครื่องไม้เครื่องมือ แต่เราสามารถสร้างมูลค่าสินค้าได้ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น เป็นสินค้าเชิงนวัตกรรมที่ใส่เรื่องของการออกแบบเข้าไป แทนการลงทุนในเรื่องเครื่องจักร หรือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเชิงวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวโน้มความต้องการของคนรุ่นใหม่เข้าไป จะทำให้สินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไป

ถึงแม้สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ จะสร้างความยากลำบากในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ          เอสเอ็มอีมากขึ้น แต่เมื่อมองในมุมบวก ผมเชื่อว่าเราเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสสู่การพัฒนาและปรับปรุงสินค้าของเราให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น ทำให้เราไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันเรื่องของราคา แต่เน้นคุณภาพและดีไซน์ ถ้าทำได้ต่อให้เกิดสงครามการค้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความได้เปรียบในการขับเคลื่อนและ ปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วกว่าองค์กรขนาดใหญ่ จะได้เปรียบในทางการค้าแบบไม่ต้องกลัวใคร…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image