ซีไอเอ็มบี แนะไทยผนึกอาเซียนหนีเสี่ยงสงครามการค้า หวังรัฐบาลกระตุ้นลงทุนเอกชนพยุงเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

นายโดนัล ฮานนา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาค กลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งเห็นผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและจีน รวมทั้งประเทศอื่นที่เป็นซัพพลายเชนและมีการค้าเกี่ยวข้องกัน ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐคาดว่าเห็นการชะลอลงแต่ยังไม่ถดถอย แม้ว่าจะเริ่มเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะสั้นมากกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว(อินเวิร์ด ยีลด์ เคิร์ฟ) แต่ยังต้องพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ประกอบด้วย ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะไม่ลดดอกเบี้ยลงแรงต่อเนื่อง จึงมีโอกาสที่จะมีเงินทุนไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่และไทย ซึ่งค่าเงินจะแข็งค่าอีกกระทบต่อการแข่งขันส่งออกแต่ส่งผลดีในแง่การลงทุน ด้านเศรษฐกิจจีนขณะนี้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อรักษาการเติบโตทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเกินดุลดุลลงและอาจจะขาดดุล ต้องติดตามว่าจีนจะมีการใช้มาตรการควบคุมการไหลออกของเงินทุน โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวเพื่อลดลงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ หากดำเนินการอาจจะกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศและไทย ดังนั้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยและเอาเซียนจะต้องสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาค ผ่านการลงทุนและบริโภคระหว่างกันมากขึ้นลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เริ่มเห็นผลกระทบต่อไทยทำให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังติดลบต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก และทำให้การลงทุนเอกชนมีแนวโน้มที่จะติดลบในช่วงครึ่งปีหลัง เริ่มเห็นผู้ประกอบการปรับแผน โดยลดกำลังการผลิตลงมีผลต่อการนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ ทั้งนี้ เมื่อภาคเอกชนชะลอการลงทุน จะส่งผลกระทบต่อมายังภาคการบริโภค การจ้างงานจะมีแนวโน้มลดลง ชั่วโมงการทำงานมีแนวโน้มถูกตัดมากขึ้น โดยธนาคารได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.8% ขณะที่การส่งออกติดลบ 2.3% ด้านการบริโภคเอกชนอยู่ที่ 3.8% การลงทุนเอกชน 0.4% ส่วนการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 3.3% และการอุปโภคภาครัฐที่ 2.6% ส่วนค่าเงินบาทคาดอยู่ที่ระดับ 30.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปีนี้

“เชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐจะช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ย่ำแย่ไปมากกว่านี้ ผ่านการประคองการบริโภคระดับล่าง อย่างไรก็ดี อยากให้รัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นภาคการลงทุนเอกชนเพราะมีความจำเป็นอย่างมาก ขณะที่นโยบายการเงินมีโอกาสจะได้เห็นมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายภาคเอกชน อีกทั้งจะช่วยประคองผู้ส่งออกโดยกดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงด้วย” ดร.อมรเทพ กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image