จับสัญญาณหนี้ครัวเรือนเพิ่ม ดันเอ็นพีแอลกระฉูด หวั่นเศรษฐกิจไทยจมดิ่ง

การก่อหนี้ของครัวเรือนแม้ว่าจะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต แต่อีกด้านหนึ่งกลับเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจเติบโตช้าได้เช่นกัน เนื่องจากหากครัวเรือนมีหนี้ เมื่อได้รับรายได้ในแต่ละเดือนจะต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ก่อนที่จะมีการบริโภคใหม่ และหากยิ่งมีหนี้มากเงินรายได้ที่เหลือหลังจากชำระหนี้แล้วก็จะยิ่งน้อยลงอาจจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายครองชีพในแต่ละเดือนได้

⦁ทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังชะลอตัว
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2562 ของไทยมีการชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ทำให้ปริมาณการค้าทั่วโลกและความต้องการสินค้าลดลงส่งผลต่อภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และปัญหาภัยแล้งที่กระทบรายได้เกษตรกร การบริโภคที่ชะลอตัวลงจากการเติบโตสูงในช่วงก่อน การลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ยังล่าช้า อย่างไรก็ตาม ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเกิดขึ้นทั่วโลก โดย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า แม้เศรษฐกิจจะชะลอลง แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบปี 2540 เพราะระบบการเงินไทยแข็งแกร่งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ นอกจากนี้ ด้านการคลังมีเข้มแข็งจากหนี้สาธารณะที่ไม่สูงมากยังสามารถใช้นโยบายการคลังผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาทออกมาแล้ว และจะรอประเมินผลที่เกิดขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่จะกระตุ้นเพิ่มเติมได้

⦁อัตราว่างงานภาคส่งออกเกษตรขยับ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะส่งให้รายได้ครัวเรือนลดลงและความเสี่ยงการว่างงานที่จะเพิ่มขึ้นหากมีการเลิกจ้าง โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนกรกฎาคม 2562 พบว่า มีผู้ว่างงาน 4.36 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ 1.0% และมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 5.4 หมื่นคน หากเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 7.3 หมื่นคน อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนเป็น 1.1%
สอดคล้องกับ ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคมว่า การว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาจากการจ้างงานโดยรวมที่ลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลงแม้ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรกรรมในภาพรวมทรงตัว แต่ผลผลิตข้าวยังคงหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงจากภาคการก่อสร้าง ภาคการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก รวมทั้งภาคการค้าลดลงทั้งในภาคการค้าปลีกและค้าส่ง ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการทรงตัว ซึ่งพบว่ามีการจ้างงานในกลุ่มการเงินและอสังหาริมทรัพย์ลดลง ขณะที่การจ้างงานในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และขนส่งเพิ่มขึ้น
ผู้บริหารจาก ธปท.ยังกล่าวอีกว่า อัตราการว่างงานแม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำแต่ทิศทางไม่น่าไว้วางใจ เพราะหากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจะเป็นความเสี่ยงต่อการบริโภคให้ปรับลดลงมีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจ และอาจจะมีผลต่อความสามารถการชำระหนี้ในระยะต่อไปได้โดยเฉพาะเมื่อหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

⦁ครัวเรือนไทยติดกับดักหนี้
ก่อนหน้านี้ ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ไตรมาสแรก ปี 2562 หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ที่ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และคิดเป็นสัดส่วน 78.6% ต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ศึกษาข้อมูลจากบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนไทยติดกับดักหนี้ และมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น คือเริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยกว่า 20% ของผู้กู้ในช่วงอายุ 29 ปีกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และเป็นหนี้เยอะขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณหนี้สินต่อหัวสูงรวมทุกประเภทสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 377,109 บาท เพิ่มเป็น 552,499 บาท และเป็นหนี้นานขึ้น คือภาระหนี้ไม่ได้ลดลงนักแม้ผู้กู้จะย่างเข้าสู่วัยเกษียณ นอกจากนี้ยังพบว่า 80% ของการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยมาจากผู้กู้รายเดิม อีกทั้งมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระที่เพิ่มขึ้นจากการมีหนี้หลายประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่ออเนกประสงค์ต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายแต่มักมีภาระในการผ่อนชำระต่อเดือนค่อนข้างสูงมาก

Advertisement

⦁คุณภาพหนี้แย่ ยอดหนี้เสียเพิ่มขึ้น
หากพิจารณาข้อมูลจากรายงานผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ของ ธปท. ยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบอยู่ที่ 13.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจ 8.70 ล้านล้านบาท สินเชื่อรายย่อย 4.65 ล้านบาท โดยต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น โดยพบว่ายอดสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) หรือสินเชื่อที่ผิดนัดชำระ 1-3 เดือน รวมอยู่ที่ 4.18 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2561 ที่ 3.66 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนเอสเอ็มต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.74% จาก 2.42% ในช่วงสิ้นปี 2561 ซึ่งการเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและความเข้มงวดการจัดชั้นหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 4.50 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ที่ 4.43 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.94% เป็น 2.95%
ต่อกรณีนี้ นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย ให้มุมมองว่าประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือน คือสินเชื่อรายย่อยที่มียอดคงค้างรวม 4.65 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค อาทิ สินเชื่อบุคคล ยอดสินเชื่อคงค้าง 9.94 แสนล้านบาท และบัตรเครดิต 2.33 แสนล้านบาท ที่มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 1.22 ล้านล้านบาท เพราะสินเชื่อนี้ไม่ได้ใช้เพื่อการลงทุนหรือสร้างรายได้ และอาจจะพิสูจน์ได้ยากว่ามีการนำไปใช้ได้ยากเพราะไม่มีหลักประกันเหมือนกับการขอสินเชื่อบ้าน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ 2.31 ล้านล้านบาท หรือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยอดคงค้างกว่า 1.11 ล้านล้านบาท โดยที่ผ่านมาสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง และพบว่าอัตราการเติบโตสูงมากในไตรมาส 2 ปี 2562 สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวขึ้น 9.7% สินเชื่อบุคคลทั้งสินเชื่อปล่อยใหม่รวมสินเชื่อบ้านแลกเงิน รถแลกเงิน ขยายตัว 11.5%
ทั้งนี้ หนี้ที่ผิดนัดชำระของสินเชื่อรายย่อยยังน่าเป็นห่วง เพราะรวมกันถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อบุคคลเอ็นพีแอล 2.42% และเอสเอ็ม 2.31% รวม 4.73% บัตรเครดิตเอ็นพีแอล 2.48% เอสเอ็ม 1.91% รวม 4.39% สินเชื่อที่อยู่อาศัย เอ็นพีแอล 3.34% เอสเอ็ม 1.78% รวม 5.12% และสินเชื่อรถยนต์เอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.82% เอสเอ็ม 7.30% รวม 9.12% หากเศรษฐกิจกำลังชะลอลงอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตได้ จึงเห็น ธปท.เข้ามาเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนมากขึ้น

⦁ธปท.คุมเข้มแบงก์ปล่อยสินเชื่อ
ในฟากของ ธปท.การดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือน ระดมทั้งการออกมาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีการปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (มาตรการแอลทีวี) มีนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสมเพื่อลดโอกาสที่ครัวเรือนจะเกิดปัญหาจากหนี้เกินตัวและช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตของธนาคารพาณิชย์ได้ โดย ธปท.ยังร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณภาระผ่อนชำระหนี้เทียบกับรายได้ (ดีเอสอาร์) เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ให้ข้อมูลว่า ธปท.ได้ออกมาตรการหลายส่วนเพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน ในส่วนการกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณดีเอสอาร์ทั้งในส่วนภาระหนี้และรายได้ของผู้กู้ ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงิน แต่ละแห่งมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน โดยล่าสุดได้มีข้อตกลงมาตรฐานกลางดีเอสอาร์ร่วมกันแล้ว คาดว่าจะเริ่มรายงานข้อมูลดีเอสอาร์ตามมาตรฐานกลางให้ ธปท. ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่ง ธปท.ยังไม่ได้มีแผนที่จะนำมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (ดีเอสอาร์ลิมิต) มาบังคับใช้ในปีนี้แต่เป็นการเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องออกมาตรการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมในอนาคต และได้ผลักดันให้สถาบันการเงินนำหลักการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบไปใช้ โดยลูกหนี้ต้องมีเงินเพียงพอสำหรับดำรงชีพหลังชำระหนี้แล้ว
“ธปท.จะติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งผ่านข้อมูลดีเอสอาร์ตามมาตรฐานกลางที่ธนาคารพาณิชย์รายงาน ซึ่งหากพบว่าสถานการณ์มีความเปราะบางมากขึ้น ธปท.อาจพิจารณาออกเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงิน กรอบการบังคับใช้และจังหวะเวลาที่เหมาะสมรวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน” นายรณดลระบุ

⦁กนง.คาดหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2562 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธปท.ประเมินว่า หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการก่อหนี้ จากการขยายสินเชื่อทั้งจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร โดยต้องติดตามการขยายสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่ผ่อนปรนมากขึ้น ทั้งนี้ กนง. ข้อสังเกตว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ควรระมัดระวังการกระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นปัจจัยถ่วงการบริโภคภาคเอกชนมาแล้วระยะหนึ่ง
กนง.ยังระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่กระทบรายได้ (อินคัม ช็อก) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นโดยจากการประเมินความอ่อนไหวต่อการลดลงของรายได้ พบว่าครัวเรือนที่มีหนี้อาจมีปัญหาสภาพคล่องในการชำระหนี้มากขึ้น จากการวิเคราะห์โดยกำหนดให้ปัญหาสภาพคล่องคือ ครัวเรือนมีรายได้หลังหักรายจ่ายอุปโภคบริโภคและภาษีแล้วไม่เพียงพอจ่ายภาระหนี้รายเดือนได้เต็มจำนวน พบว่าสัดส่วนมูลค่าหนี้ที่อาจมีปัญหาสภาพคล่องดังกล่าวสูงถึง 46.8%
และเมื่อทำการทดสอบภาวะวิกฤต ที่สมมุติให้รายได้ของแต่ละครัวเรือนลดลง 20% แต่คงระดับการใช้จ่ายไว้เท่าเดิมเพื่อวิเคราะห์ความทนทานของครัวเรือน พบว่าสัดส่วนมูลค่าหนี้ที่อาจมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเป็น 72.5% และเพิ่มขึ้นสูงในทุกกลุ่มอาชีพสะท้อนถึงความเปราะบางของภาคครัวเรือน ดังนั้น หากภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจจนทำให้รายได้ลดลงรุนแรงในช่วงเศรษฐกิจขาลง อาจเห็นการปรับตัวของภาคครัวเรือน อาทิ การปรับลดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคหรือการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังการขยายตัวของเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่แท้จริงหนี้ครัวเรือนจะต้องติดตามรายละเอียดที่ สศช.จะรายงานในวันที่ 2 กันยายน จะทราบว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนและคุณภาพสินเชื่อที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและต้องดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้ครัวเรือนมีรายได้มากขึ้นหรือมีการก่อหนี้มากขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะหนี้ครัวเรือนที่เห็นเป็นหนี้ในระบบเท่านั้น ยังไม่รวมการกู้หนี้จากนอกระบบที่คาดว่าจะมีจำนวนมากเช่นกัน
หากเกิดครัวเรือนชำระหนี้ไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาเอ็นพีแอล จะเป็นปัญหาวนมากระทบกับเศรษฐกิจไทย และจะส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้

Advertisement

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image