กรมขนส่งทางรางเล็งผุดมาตรการลดค่าครองชีพ ดึงคนใช้รถไฟฟ้าซื้อตั๋วครบ 1.5 หมื่นใช้ลดหย่อนภาษีได้

สราวุธ ทรงศิวิไล

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางราง ที่มีจะขึ้นในวันที่ 6 กันยายนนี้ จะมีการเสนอมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนในเรื่องของการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า โดยมาตรการดังกล่าวจะเป็นการเสนอลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าแบบรายเดือน ช่วงที่ผู้โดยสารไม่นิยมการเดินทาง(ออฟพีค)ลง รวมถึงจะเสนอมาตรการจูงใจใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นด้วยการให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าในระบบใดก็ได้ครบ 15,000 บาท สามารถนำเงินมาลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ ซึ่งรูปแบบจะเป็นลักษณะเดียวกันกับนโยบายช้อปช่วยชาติ

นายสราวุธกล่าวว่า สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะมีการเสนอ 2 แนวทาง คือ 1.ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้ารายเดือนลง และ 2.ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าในช่วงที่ผู้โดยสารไม่นิยมเดินทาง(ออฟพีค)ลง ซึ่งปัจจุบันรถไฟฟ้าที่อยู่ในระบบจะพบว่ามีอยู่ 4 ประเภท คือ 1.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ ปัจจุบันมีค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ที่ 15-45 บาท/คน/เที่ยว และมีการคนเดินทางเฉลี่ยต่อคนที่ 31 บาท/คน/เที่ยว หากมาลดราคาเป็นตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะอยู่ที่ 25-30 บาท/เที่ยว ส่วนราคาที่จะจัดเก็บในช่วงออฟพีคจะอยู่ที่ 15-25 บาท/เที่ยว 2.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ปัจจุบันมีค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ที่ 14-42 บาท/คน/เที่ยว และมีการคนเดินทางเฉลี่ยต่อคนที่ 21 บาท/คน/เที่ยว หากมาลดราคาเป็นตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะอยู่ที่ 15-20 บาท/เที่ยว ส่วนราคาที่จะจัดเก็บในช่วงออฟพีคจะอยู่ที่ 14-25 บาท/เที่ยว

นายสราวุธกล่าวว่า 3.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ของ รฟม. ปัจจุบันมีค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ที่ 16-42 บาท/คน/เที่ยว และมีการคนเดินทางเฉลี่ยต่อคนที่ 25 บาท/คน/เที่ยว หากมาลดราคาเป็นตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะอยู่ที่ 20-25 บาท/เที่ยว ส่วนราคาที่จะจัดเก็บในช่วงออฟพีคจะอยู่ที่ 16-30 บาท/เที่ยว 4.รถไฟฟ้าบีทีเอส ของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ) ปัจจุบันมีค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ที่ 16-44 บาท/คน/เที่ยว และมีการคนเดินทางเฉลี่ยต่อคนที่ 29 บาท/คน/เที่ยว หากมาลดราคาเป็นตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะอยู่ที่ 26บาท/เที่ยว ส่วนราคาที่จะจัดเก็บในช่วงออฟพีคนั้นไม่มี เนื่องจากบีทีเอส มีปริมาณคนเดินทางในทุกช่วงเวลา

นายสราวุธกล่าวต่อว่า มาตรการดังกล่าวทางคณะกรรมการจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ก่อนที่จะนำมาตรการ แนวทางการลดค่าครองชีพ เรื่องค่าโดยสารนี้เสนอต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอแนวทางต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) หากมีการอนุมัติคาดว่ามาตรการลดราคาช่วงออฟพีคจะสามารถนำมาดำเนินการทดลองก่อน 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 นี้เป็นต้นไป

Advertisement

นายสราวุธกล่าวว่า มั่นใจว่ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนหันมาเดินทางรถไฟฟ้าทุกระบบมากขึ้น ลดการใช้รถส่วนบุคคล การจราจรบนท้องถนนลดลง ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารมาใช้ระบบรถไฟฟ้าในทุกระบบเพิ่มขึ้นอีก 10% ทันที ในขณะเดียวกันเมื่อมาตรการที่นำมาใช้อาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการรถไฟฟ้าได้ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลทำให้เห็นว่ารายได้ของแอร์พอร์ตลิ้งก์จะลดลงเฉลี่ยเดือนละ 5 ล้านบาท/เดือน เป็นต้น

นายสราวุธกล่าวว่า ในส่วนที่รายได้ลดลงนั้นทางคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางราง จะมีการหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร(กทม.)เพื่อขอนำภาษีจากป้ายวงกลม ที่ กทม.เป็นผู้จัดเก็บในส่วนนี้กว่าปีละ 14,000 ล้านบาท ขอนำมาชดเชยเฉลี่ยปีละ 500-1,000 ล้านบาท/ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image