‘สทนช.’ คาดพายุ โพดุล–คาจิกิ เติมน้ำ 7 พันล้าน ลบ.ม. พร้อมประเมิน 18 จว.เสี่ยงท่วม

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการติดตามพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลกและสุโขทัย ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีพายุที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยถึง 2 ลูก คือ พายุโซนร้อนโพดุล และพายุคาจิกิ จากสถานการณ์ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุทั้ง 2 ลูกดังกล่าว ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แหล่งน้ำเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 12 แห่ง ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ซึ่งมีแนวโน้มพ้นวิกฤติในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ สทนช. คาดการณ์ไว้ว่าระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม–7 กันยายน 62 จะมีน้ำไหลลงสู่แหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางเพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็น ภาคเหนือ 1,890 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,760 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 220 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 1,800 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 200 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 270 ล้าน ลบ.ม. จากสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศปัจจุบัน พบว่า มีปริมาณรวมอยู่ที่ 47,486 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% แบ่งเป็น ภาคเหนือ 1,1906 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6,307 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 1,350 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 22,545 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 449 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ 4,824 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม สทนช.ยังได้วิเคราะห์พื้นที่ที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลจากพายุคาจิกิ พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใน 18 จังหวัด อาทิ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อุดรธานี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ตามที่ สทนช. โดยศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ ได้ออกประกาศให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักที่มีความเสี่ยงจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องทั้งแม่น้ำยม แม่น้ำชี ลำน้ำยัง ลำเซบาย แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามเฝ้าสถานการณ์น้ำ และพิจารณาความเหมาะสมในการปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำหลาก โดยไม่ให้กระทบกับบ้านเรือนของประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตรบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำด้วยแล้ว

“แม้ว่าหลายพื้นที่ของประเทศขณะนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมและฝนตกต่อเนื่อง แต่ สทนช.ยังได้ประเมินพบว่า มี 7 จังหวัดที่ยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง รวมถึงแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ได้แก่ จ.ลำพูน ตาก อุทัยธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ซึ่งศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ ได้ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่างฯ และบรรเทาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงในพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย ทั้งนี้ สทนช.จะเชิญผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการ 17 จังหวัดภาคเหนือประชุมหารือในวันศุกร์ที่ 6 กันยายนนี้ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางในการบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนได้ทันสถานการณ์ต่อไป” นายสมเกียรติกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image