กรมศุลฯสกัดเข้ม ลอบขนแบรนด์เนม

ขบวนการหิ้วสินค้าแบรนด์เนมหนีภาษีเข้ามาขายในไทยต้องสั่นสะเทือนอีกครั้ง จากเจ้าหน้าที่จับแอร์โฮสเตส ของการบินไทย ลักลอบขนสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศเข้ามาทำให้หลายคนสงสัยและจับจ้องขบวนการนี้อีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้มีการจับกุมสจ๊วตของการบินไทย เช่นกัน ที่ลักลอบขนบุหรี่ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในไทย

การจับกุมแอร์โฮสเตสและสจ๊วตในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คงไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจับกุมผู้ลักลอบขนสินค้าหนีภาษี โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ ข่าวการจับกุมเกิดขึ้นเป็นระยะ เพราะด้วยราคา และภาษีที่แตกต่างกันมากระหว่างสินค้าที่ขายในไทยและสินค้าที่ขายในต่างประเทศ บางชิ้นราคาขายในไทยแพงกว่าต่างประเทศถึงเท่าตัว จึงเป็นที่ล่อตา ล่อใจ ขบวนการหิ้วสินค้าแบรนด์เนมหนีภาษี ให้ทำผิดกฎหมายอยู่เรื่อยๆ

บางรายแม้ไม่ใช่พนักงานสายการบิน ก็ถึงขนาดลงทุนนั่งเครื่องบินไปซื้อสินค้าแบรนด์เนม มีทั้งไปซื้อแหล่งผลิตที่ประเทศในแถบยุโรป และในประเทศแถบเอเชียที่ภาษีถูกกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น แล้วลอบขนเข้ามาขายในไทย

สินค้าราคาแพงบางชิ้นสร้างกำไรหลายแสนบาทจึงทำให้ขบวนการหิ้วแบรนด์เนมหนีภาษียังไม่หมดไป

Advertisement

จากสถิติการการป้องกันและปราบปรามการของกรมศุลกากรในเดือนกรกฎาคม 2562 พบการกระทำความผิด 2,778 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 393.67 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบนำเข้าถึง 74.7% ในกลุ่มนี้พบการกระทำผิดในการลักลอบขนยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดประเภทเคตามีน เป็นต้น

สำหรับผลการตรวจยึดสินค้ากรณีความผิดลักลอบและหลีกเลี่ยงภาษีปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561-กรกฎาคม 2562) กรมศุลกากรสามารถจับกุมการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรได้ทั้งสิ้น 26,321 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.23 พันล้านบาท เป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบ 69.87%

สินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าสูงในช่วงเดือนตุลาคม-กรกฎาคม ปีงบประมาณ 2562 อาทิ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน บุหรี่ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกสูงในช่วงเดือนตุลาคม-กรกฎาคม ปีงบประมาณ 2562 อาทิ ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดประเภทเคตามีน

Advertisement

ถ้าแยกเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมพบการกระทำผิดปีละประมาณ 40-50 คดี มีมูลค่าระดับ 50-100 ล้านบาท ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับการกระทำผิดอื่นๆ แต่ กฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร สั่งคุมเข้มในการตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ

อธิบดีกรมศุลกากรให้ข้อมูลว่า การตรวจสอบสินค้าแบรนด์เนมลักลอบหนีภาษีในปีนี้ กรมพยายามเร่งรัดติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คร่อมสายพานสนามบินสุวรรณภูมิ 23 เครื่อง เพื่อตรวจจับสินค้าผิดกฎหมายและหนีภาษี โดยเครื่องดังกล่าวจะตรวจสอบกระเป๋าเดินทางทุกใบตั้งแต่ออกมาจากเครื่องบิน คาดว่าจะเริ่มใช้งานอย่างจริงจังในช่วงต้นปี 2563

ในการตรวจสอบจะดูสิ่งผิดกฎหมาย ยาเสพติด ซึ่งสินค้าแบรนด์เนมเป็นผลพลอยได้ หากพบว่ากระเป๋าใบใด ขนสินค้าผิดกฎหมาย หรือสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาจำนวนมากเกินกว่าที่กรมศุลกากรกำหนดว่าต้องไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อคน จะทำเครื่องหมายไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้การลักลอบนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม และกลุ่มสินค้าผิดกฎหมายผ่านสนามบินลดลง

กรมศุลกากรมีแผนที่จะติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คร่อมสายพานที่สนามบินให้ครบทุกแห่ง ต่อจากนี้ไปผู้ที่นำเข้าสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงหารู้ตัวว่าหิ้วสินค้าเข้ามาในไทยเกินกว่าที่กำหนดไว้ ควรต้องสำแดงเพื่อเสียภาษี จะได้ไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

กฤษฎา” ระบุว่า ในการตรวจสอบลักลอบนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม กรมศุลกากรใช้แนวทางการตรวจสอบผ่านการบริหารข้อมูลด้านการข่าว เช่น ผู้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยใน 6 เดือน ถ้าเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ บ่อยเช่น 130 ครั้ง ข้อมูลจะขึ้นให้เห็นเลยว่าผิดปกติ หรือหากพบเดินทางไปประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี หรือประเทศในโซนยุโรปในช่วง 6 เดือนถึง 40 ครั้ง ก็ถือว่าไม่ใช่การท่องเที่ยวธรรมดา กรมต้องเข้าไปตรวจสอบเป็นพิเศษ

ผู้ที่เดินทางบ่อยๆ อยู่ในรายชื่อกลุ่มที่มีความเสี่ยงเลี่ยงภาษี โดยจะจัดทำเป็นรายชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ หรือวอตช์ลิสต์ ซึ่งจะถูกจับตาว่าเดินทางเข้ามาในไทยด้วยสายการบินไหน เดินทางเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่ต้องไปตรวจสอบเป็นพิเศษ ส่วนกลุ่มพรีออเดอร์ในโลกออนไลน์ถูกจับตาดูเช่นกัน ขณะนี้กรมศุลกากรมีรายชื่ออยู่ในวอตช์ลิสต์กว่า 100 ราย

“กลุ่มพรีออเดอร์หิ้วของแบรนด์เนมจากต่างประเทศ วนเวียนกันไป ไม่ซ้ำหน้ากัน ยิ่งช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นแรงจูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาขายในไทย เช่น นาฬิกา Patek Philippe (ปาเต๊ะ ฟิลลิป) ราคาเรือนละ 8 แสนบาท ถ้าเสียภาษีถูกต้อง ต้องเสียภาษีนำเข้าของกรมศุลกากร 5% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% รวมแล้วต้องเสียภาษี 12% เท่ากับว่าต้องเสียภาษีเกือบ 1 แสนบาทต่อเรือน ดังนั้น ถ้าลักลอบเข้ามาได้ ทำกำไรได้หลายแสนบาท” อธิบดีกรมศุลกากรยกตัวอย่าง

ด้าน ธาดา ชุมไชโย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร ให้ข้อมูลว่า สถิติการจับกุมสินค้าแบรนด์เนมล่าสุดเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปีที่ผ่านมาเฉลี่ยจับกุมประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน กรมขึ้นแบล๊กลิสต์กลุ่มหิ้วของแบรนด์เนมมา รวมถึงมีทีมเฝ้าติดตามเว็บไซต์ที่ประกาศรับหิ้วสินค้าจากต่างประเทศ แต่กลุ่มผู้กระทำผิดเปลี่ยนวิธี เช่น ถ้าถูกจับหลายครั้ง ก็จะเปลี่ยนคนไปซื้อของ หรือบางครั้งนำสินค้าไปพักไว้ประเทศอื่น ก่อนนำเข้าไทย หรือส่งคนอื่นมารับสินค้าแทน ดังนั้น ในการจับกุมนั้นต้องอาศัยสายข่าวพอสมควร

ชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เสริมว่า เรื่องการปราบปรามและจับกุมสินค้าแบรนด์เนมหนีภาษีนั้นกรมให้ความสำคัญและจับกุมมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยเป็นข่าว ส่วนพนักงานสายการบินนั้น เจ้าหน้าที่ของกรมจับตาทุกสายการบิน และถูกตรวจสอบภาษีเหมือนประชาชนทั่วไป โดยจะมีเจ้าหน้าที่ต้องคอยสอดส่องดูแล หากพบรายได้นำเข้าสินค้ามูลค่าเกินกว่า 2 หมื่นบาท ต้องสำแดงภาษี เพราะถ้าถูกจับได้ต้องเสียภาษีและค่าปรับให้ถูกต้อง

แม้จะมีการประชาสัมพันธ์ให้เสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่เกิดดราม่าหลายครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้โดยสารไปเที่ยวต่างประเทศและหอบหิ้วของแบรนด์เนมเข้ามาในไทย มีหลายคนไม่เข้าใจว่าการนำเข้าสินเค้าแบรนด์เนมเกินกว่า 2 หมื่นบาทนั้นต้องเสียภาษี ซึ่งบางครั้งเล็ดลอดไปได้เพราะในการตรวจสอบนั้นจะใช้วิธีการสุ่ม” โฆษกกรมศุลกากรระบุ

แต่ปีหน้าเครื่องเอกซเรย์คร่อมสายพานแล้วเสร็จเชื่อว่าการลักลอบสินค้าผิดกฎหมายและแบรนด์เนมจะน้อยลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image