“อดีตขุนคลัง” เตือนบอร์ด รฟท.ระวังความเสี่ยงค่าโง่จากไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน

เมื่อวันที่ 11 ก.ย.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” เรื่องการส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเทรน โดยมีรายละเอียดคือ “คณะกรรมการ รฟท. ต้องระวังความเสี่ยงค่าโง่จาก ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’!”

โครงการโฮปเวลล์ที่ก่อให้เกิดค่าโง่ ที่ รฟท. จะต้องแบกหลังแอ่นอยู่ในขณะนี้ เกิดจากปัญหา รฟท. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด

จึงต้องวิเคราะห์ว่าสัญญา ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ มีความเสี่ยงจะเกิดปัญหาทำนองนี้ หรือไม่

“ข้อ 6. เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่เริ่มต้นการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ (ยกเว้นแอร์พอร์ต เรลลิงค์) และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ ซึ่งจะมีการระบุวันดังกล่าวได้*เมื่อดำเนินการดังต่อไปนี้เสร็จสิ้น* แล้ว

Advertisement

(1) มีการส่งมอบพื้นที่พร้อมส่งมอบในส่วนของ *พื้นที่ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ* ให้แก่เอกชนคู่สัญญา *ตามที่ระบุในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 6 (แผนการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ) ภาคผนวกหมายเลข 2 (แผนการส่งมอบพื้นที่โครงการเกี่ยวกับรถไฟ)*

(2) มีการส่งมอบพื้นที่พร้อมส่งมอบในส่วนของ *พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ* ของโครงการฯ ให้แก่เอกชนคู่สัญญา *ตามที่ระบุในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 6 (แผนการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ) ยกเว้นพื้นที่มักกะสันบางส่วนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข) 2)*

แต่ทั้งนี้ รฟท. จะไม่ส่งมอบพื้นที่พร้อมส่งมอบในส่วนดังกล่าว (อธิบายว่า คือ *พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ*) ก่อนการส่งมอบพื้นที่พร้อมส่งมอบในส่วนของ *พื้นที่ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ* ให้แก่เอกชนคู่สัญญา

Advertisement

ถามว่า ร่างสัญญาแบบนี้มีความเสี่ยงอย่างไร?

ตอบว่า มีความเสี่ยงค่าโง่เกิดขึ้นได้ในอนาคตสูงมาก

เพราะพื้นที่ทั้งสองประเภท คือ *พื้นที่ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ* และ *พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ* ที่เกี่ยวข้องนั้น มีจำนวนมาก และมีปัญหาที่ต้องแก้ไขหลายด้าน

ในลิงค์ข่าววันที่ 12 ก.ค. 2562 นายสุจินต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่าพื้นที่ก่อสร้างมีมากถึง 3,571 ไร่ และยังมีพื้นที่ต้องเวนคืนอีก 850 ไร่ เป็นพื้นที่ทั้งหมดมากถึง 4,300 ไร่

และในพื้นที่มีผู้บุกรุกถึง 513 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 210 ไร่ และยังมีสัญญาเช่าอีก 83 สัญญา ครอบคลุมพื้นที่ 210 ไร่ ที่ รฟท. จะต้องแก้ปัญหาให้เสร็จเสียก่อน

สำหรับพื้นที่ที่ต้องเวนคืนนั้น จะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกา โดยจะใช้เงินจ่ายเวนคืนจากโครงการ อีอีซี 200 ล้านบาท

พื้นที่มักกะสัน 140 ไร่นั้น ก็มีปัญหา 9.3 ไร่เป็นที่ตั้งของพวงราง ที่ใช้เพื่อสลับขบวนรถไฟจากรางหนึ่งไปอีกรางหนึ่ง รัฐบาลต้องจัดงบให้ 300 ล้านบาทเพื่อย้ายไปพื้นที่ใกล้เคียง

สุดท้าย ยังมีปัญหาตอม่อโฮปเวลล์ 200 ต้น ที่ยังจะต้องเจรจากับกลุ่มซีพีว่าใครจะรับผิดชอบในการรื้อถอน

สรุปแล้วเป็นโปรแกรมการเตรียมพื้นที่ที่มีงานหลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งแต่ละงาน มีความเสี่ยงที่จะสะดุดปัญหาได้ทั้งนั้น ไม่ว่าการเจรจาไล่ที่ผู้บุกรุก และผู้เช่า ซึ่งถ้ารายใดมองทะลุว่า ความล่าช้าจะสร้างความเดือดร้อนอย่างหนัก รายนั้นย่อมอาจจะวางหมากดึงการเจรจาได้

ส่วนการเวนคืนนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะถูกท้าทายหรือไม่

เพราะการเวนคืนเพื่อใช้ในกิจการเดินรถ (คือ *พื้นที่ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ*)นั้น พอจะตีความได้ว่าเป็นการรอนสิทธิเอกชนเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ

แต่การเวนคืนเพื่อนำไปพัฒนาหาประโยชน์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์(คือ *พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ*)นั้น มิใช่เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ แต่เพื่อประโยชน์แก่เอกชนผู้เหมาโครงการ

ผมจึงขอแนะนำให้คณะกรรมการ รฟท. ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนดสูงมาก ไม่เหมือนกับให้ รฟท. เป็นผู้ทำโครงการรถไฟเอง โดยแยกพื้นที่มักกะสันออกประมูลต่างหาก

มีการเตือนทางสาธารณะอย่างนี้แล้ว ท่านอาจจะต้องรับผิดชอบส่วนตัว

วันที่ 11 กันยายน 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image