ธปท. ห่วงรัฐ-เอกชนกระตุ้นก่อหนี้เกินตัวดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง แบงก์รับลูกชะลอแคมเปญผ่อน0%-ใช้/เที่ยวก่อนจ่ายทีหลัง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนา “แนวพระราชดำริ : ภูมิคุ้มกันสังคม-วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ  ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่วนหนึ่งเป็นจากการที่ครัวเรือนถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้ โดยพบว่าช่วงที่รัฐบาลมีมาตรการรถยนต์คันแรกออกมา ครัวเรือนมีการเร่งก่อหนี้และมีการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นเพราะกลัวเสียสิทธิ์ รวมทั้งมีผู้ประกอบการสินเชื่อรถยนต์เข้ามาแข่งขันการให้บริการมากขึ้น ซึ่งหากประเมินเบื้องต้นอาจจะมองว่าดีเพราะทำให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น แต่พบว่าการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นเป็นการปล่อยกู้กลุ่มคนเดิม ๆ ที่ทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้มากขึ้น และพบว่าครัวเรือนมีการเก็บออมน้อย มีการกู้เพื่อใช้จ่ายมากขึ้น เช่น คนที่เพื่งเริ่มทำงานเดือนแรกแต่ก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ เพราะมีโปรโมชั่นผ่อน 0% นาน 6 เดือน การช้อปปิ้งออนไลน์ที่สามารถวื้อสินค้าได้ตลอดเวลา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการมีชีวิตอยู่ยืนยาวมากขึ้นการออมเงินเพื่อใช้ในอนาคตเป็นเรื่องที่สำคัญ ในส่วนของธปท.เองก็ได้มีการออกเกณฑ์กำกับธนาคารพาณิชย์เพื่อไม่ให้มีการก่อหนี้ครัวเรือนซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ เช่น เกณฑ์สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่(แอลทีวี) เกณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียน(คาร์ฟอร์แคช) ล่าสุด สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์สมาชิกได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ เพื่อไม่กระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้มากเกินตัว

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ล่าสุดอยู่ที่ 78.7% สัดส่วนเป็นสินเชื่อเพื่อธุรกิจ18% และสินเชื่อรายย่อย ได้แก่ ที่อยู่อาศัย 33% ยานยนต์ 12% สินเชื่อส่วนบุคคล 34% และบัตรเครดิต 3% ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นต่อเนื่อง หากไม่ชำระหนี้คืนก็จะทำให้ระบบธนาคารล้มได้และเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี แต่การก่อหนี้ส่วนหนึ่งจำเป็น เช่น การซื้อที่อยู่อาศัย การซื้อรถยนต์ แต่บางเรื่องอาจจะเป็นการใช้จ่ายพุ่มเฟื่อย ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องระมัดระวังไม่กระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้โดยที่ไม่จำเป็น

“ธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างการทบทวนแนวทางการปล่อยสินเชื่อและพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการให้สินเชื่อมากขึ้น ในส่วนของรายย่อยจะชะลอการออกโปรโมชั่นที่กระตุ้นการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะสำหรับการซื้อสินค้า หรือใช้จ่ายประเภทความสุขสำราญ เช่น เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง 0% การซื้อโทรศัพท์มือถือผ่อน 0% เป็นต้น ส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจ ต้องพิจารณารายละเอียดโครงการว่าปล่อยสินเชื่อไปแล้วจะก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ” นายปรีดี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image