“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะบอร์ดบีโอไอ เคาะส่งเสริมลงทุน4โครงการ2.8หมื่นล้านบ.

เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) โดยเป็นการประชุมบอร์ดบีโอไอชุดใหม่เป็นครั้งแรก โดยคณะกรรมการจากทั้งภาครัฐและตัวแทนเอกชนเข้าร่วมครบ อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทีกษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ บีโอไอ นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ประชุมบอร์ดบีโอไอนัดแรก

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ บีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอว่า บอร์ดบีโอไอเห็นชอบอนุมัติส่งเสริม 4 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 28,270 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ โพลีคาร์บอเนต เรซิน เงินลงทุน 18,476ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทย ญี่ปุ่น และไต้หวัน ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ เงินลงทุน 4,450 ล้านบาท โครงการ ร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์  การผลิตโมโนโซเดียมกลูตาเมตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ของบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) เงินลงทุน 2,750 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น และการผลิตชิ้นส่วนผงโลหะอัดขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เงินลงทุน2,594 ล้านบาท ของบริษัทจีนที่มีบริษัทแม่เป็นผู้ผลิตผงโลหะทังสเตนและผงคาร์ไบด์ทังสเตนรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ปัจจุบันมีฐานการผลิตในญี่ปุ่น ไต้หวัน และเยอรมนี

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า บอร์ดบีโอได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับกิจการเป้าหมายที่ตั้งอยู่นอกกรุงเทพมหานคร โดยกิจการเป้าหมายที่ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5-8 ปี และได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปีกรณีที่ยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563 และต้องมีการลงทุนจริงไม่น้อยว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 และมาตรการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอบรมพนักงานและนักศึกษาในทักษะใหม่และทักษะขั้นสูง เช่น ด้านเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)  หรือทักษะอื่น ๆ รอรับอนาคต สามารถนำค่าใช้จ่ายไปเพิ่มเติมในวงเงินขอยกเว้นภาษีส่งเสริมการลงทุนได้ 200% จากค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งขณะนี้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) จะกำหนตหลักสูตรด้านเทคโนโลยีที่เป็นเป้าหมาย หากมีการอบรมตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจะได้รับการรับรองจากบีโอไอ ทั้งนี้ เอกชนมีการจัดตั้งสถาบันอบรมหลักสูตรด้านเทคโนโลยีที่เป็นเป้าหมาย จากเดิมที่จะได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ได้เปลี่ยนรูปแบบให้นำสามารถนำเงินที่ลงทุนในการจัดตั้งสถาบันอบรมฯ ไปใช้ลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทแม่ได้โดยจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ 5 ปี

“บีโอไอตั้งเป้าหมายยอดขอส่งเสริมการลงทุนปีนี้ที่ 7.5 แสนล้านบาท ช่วงครึ่งปีแรกมียอดขอส่งเสริมการลงทุน 758 โครงการ มูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านบาท ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการต่อเนื่อง คาดว่าแพคเก็จที่ออกมาน่าจะมีแรงหนุนช่วยได้ นอกจากนี้จะมีการทำมาร์เก็ตติ้งเพิ่ม จัดทีมรถโมบายลงพื้นที่เจาะรายบริษัท โดยแนวโน้มการขอส่งเสริมการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีจะทยอยเข้ามาและยังคงเป้าหมายตามที่ตั้งไว้” นางสาวดวงใจ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image