‘ซิสโก้’ และ ‘เอ.ที. เคียร์เน่’ เผย 5G ช่วยเพิ่มรายได้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในไทย มากกว่า 34,000 ลบ.ต่อปี

นายนาวีน เมนอน, ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ กล่าวว่า นับเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเปิดตัวการให้บริการ 5G สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพราะปัจจุบันการรับส่งข้อมูลบนระบบเซลลูลาร์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ใช้มีการใช้งานบริการและคอนเทนต์ต่างๆ บนอุปกรณ์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้นขณะเดียวกัน องค์กรต่าง ๆ ก็มองหาหนทางในการใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ, ไอโอที, ระบบการพิมพ์ 3 มิติ, ระบบหุ่นยนต์ขั้นสูง และอุปกรณ์สวมใส่ เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจ การปรับใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมในการขยายฐานธุรกิจในตลาดองค์กร และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว

นายวัตสัน ถิรภัทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ธุรกิจทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคสำคัญ ๆ เช่น ภาคการผลิตกำลังมองหาเทคโนโลยี 4IR การเปิดให้บริการ 5G ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี และนำประโยชน์มหาศาลมาสู่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังรอคอยการเปิดตัว 5G เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้เนื้อหาบนอุปกรณ์ส่วนตัวของพวกเขา แนวโน้มทั้งสองนี้จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ผู้ให้บริการโทรคมนาคมกำลังเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวบริการ 5G โดยมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ (300,000 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568

Advertisement

นายดาร์เมช มัลฮอตรา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน, กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมของซิสโก้ กล่าวว่า การเปิดให้บริการ 5G จะต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงเครือข่ายให้ทันสมัย สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มว่าจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่ออัพเกรดเครือข่าย 4G และสร้างขีดความสามารถด้าน 5G อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ระบบ 4G และ 5G ทำงานควบคู่กันไปอย่างราบรื่น ขณะที่ผู้ให้บริการจะสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนทุนและ ROI ที่ยั่งยืน  ซิสโก้ร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายในการพัฒนาระบบ 5G และปัจจุบันมีลูกค้าหลายรายในอาเซียนที่กำลังดำเนินโครงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ 5G

ผลการศึกษาเน้นย้ำว่า เพื่อที่จะปลดล็อคศักยภาพดังกล่าว ภูมิภาคนี้จะต้องแก้ไขปัญหาท้าทายที่สำคัญบางประการ

ปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ย่านความถี่ที่เปิดให้ใช้งานช้าเกินไปสำหรับบริการ 5G ส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ด้อยประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ระบบ 5G จะได้รับการติดตั้งใช้งานบนหลายย่านความถี่ โดยมี 3 ย่านความถี่หลักที่จะใช้งานทั่วโลกในระยะสั้น ได้แก่ ย่านความถี่ต่ำ (700 เมกะเฮิรตซ์), ย่านความถี่กลาง (3.5 ถึง 4.2 กิกะเฮิรตซ์) และย่านความถี่สูง บนสเปกตรัม mmWave (24 ถึง 28 กิกะเฮิรตซ์) ในภูมิภาคอาเซียน ย่านความถี่เหล่านี้กำลังถูกใช้งานสำหรับบริการอื่น ๆ เช่น ย่านความถี่ต่ำใช้สำหรับฟรีทีวี และย่านความถี่กลางใช้สำหรับบริการดาวเทียม แม้ว่าสเปกตรัม mmWave จะพร้อมใช้งาน แต่ในการติดตั้งระบบ จำเป็นที่จะต้องรวมย่านความถี่ต่ำเข้าไว้ด้วย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมเขตชานเมืองและชนบท รวมถึงการเชื่อมต่อภายในอาคาร

Advertisement

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะต้องสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G โดยกำหนดราคาอย่างรอบคอบ และโยกย้ายผู้บริโภคไปสู่เครือข่ายความเร็วสูง ผู้บริโภคมีความตื่นเต้นเกี่ยวกับ 5G และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อคุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งแตกต่างเทคโนโลยี 3G และ 4G ดังนั้นผู้ให้บริการจึงไม่ควรเข้าร่วมในสงครามตัดราคาเพียงเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก และหวังว่าจะสามารถคิดค่าบริการเพิ่มในภายหลัง

ในส่วนขององค์กรขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นที่จะต้องสร้างความสามารถใหม่ ๆ และรวมบริการเชื่อมต่อเข้ากับโซลูชั่นและแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจ ปรับใช้ และขยายการใช้งานที่ช่วยเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ให้บริการจะต้องรับมือกับคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่ให้บริการเครือข่ายส่วนตัวแก่องค์กร

นายนิโคไล ดอบเบอร์สไตน์ พาร์ทเนอร์ของบ. เอ.ที. เคียร์เน่ และหัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าว กล่าวว่า การเปิดตัว 5G ในอาเซียนมีศักยภาพโดยรวมที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ภูมิภาคนี้จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาท้าทายที่สำคัญ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และองค์กรต่างๆ เนื่องจากความท้าทายด้านอีโคซิสเต็มส์และมูลค่าที่สูงมากเป็นเดิมพัน หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องเข้ามามีบทบาทหลัก และจะต้องเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะสั้น การสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และการส่งเสริมการพัฒนาระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับประเทศ โดยครอบคลุมทั่วภูมิภาค

ผลการศึกษาชี้ว่า ในประเทศไทย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่าจะเปิดให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี และให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถเปิดตัวบริการ 5G ในเดือนธันวาคม 2563 นอกจากนี้ กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.6 กิกะเฮิรตซ์ สำหรับ 5G ภายในปี 2563

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image