คุมโปรโมชั่น-ผ่อน 0% ภูมิคุ้มกันหนี้ครัวเรือน?

ในภาวะเศรษฐกิจและสังคม ที่ค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป การใช้โซเชียลมีเดีย การแข่งขันธุรกิจในรูปแบบใหม่ การซื้อสินค้าและบริการที่สะดวกมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้ง การเข้าถึงสินเชื่อผ่านช่องทางต่างๆ ที่สะดวกมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นทั้งของภาครัฐและการทำการตลาด ส่งผลให้การใช้จ่ายบริโภคมีการเติบโตเร็วและการใช้จ่ายบริโภคมีการเติบโตเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่าย ซึ่งสะท้อนออกมาจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ข้อมูล หนี้ครัวเรือน จากรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ไตรมาสแรก ปี 2562 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 78.7% หรือราว 13 ล้านล้านบาท เทียบกับมูลค่าจีดีพีประเทศอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็นหนี้ธุรกิจราว 18% ส่วนหนี้ของประชาชนทั่วไปมีสัดส่วนถึง 82% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่ทำให้เกิดการสะสมทรัพย์สินและเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ทั้งการกู้ซื้อบ้าน 33% และการกู้ซื้อรถยนต์ 12% รวม 45% ส่วนการกู้เพื่อบริโภคมีสัดส่วนกว่า 37% โดยเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลราว 34% และบัตรเครดิต 3%

ที่น่ากังวลเพราะหนี้ส่วนนี้ยังมีการเติบโตในระดับสูง และพบว่าคนที่กู้จะเป็นผู้กู้กลุ่มเดิม ไม่ใช่ผู้กู้หน้าใหม่ที่เข้ามาในระบบ

Advertisement

แม้ว่าช่วงปี 2560 ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการออกมาตรการควบคุมการให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันออกมา โดยการจำกัดบัญชีและวงเงินการให้สินเชื่อ ด้วยภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง การเพิ่มขึ้นของรายได้อาจจะเพิ่มขึ้นช้ากว่าการก่อหนี้ อาจส่งผลต่อการชำระสินเชื่อ ทำให้ ธปท. มีมาตรการต่างๆ ออกมาดูแลเพื่อควบคุมการก่อหนี้และชะลอการเพิ่มขึ้นของครัวเรือน

ขณะที่ภายใต้เศรษฐกิจกิจที่ชะลอตัว ทำให้ภาครัฐอาจจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม หนึ่งในนั้น คือการกระตุ้นการบริโภคที่จะเห็นผลได้เร็ว ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของ ธปท. มีข้อสังเกตว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ควรระมัดระวังการกระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ล่าสุด ธปท.ได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ชะลอการออกแคมเปญที่กระตุ้นการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น

Advertisement

มุมมองจาก วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ให้ข้อมูลสะท้อนถึงการก่อหนี้หลายๆ ครั้งที่เกิดจากการกระตุ้นว่า ช่วงที่รัฐบาลมีโครงการรถยนต์คันแรกออกมา ครัวเรือนมีการเร่งก่อหนี้และมีการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น เพราะกลัวเสียสิทธิ

นอกจากนี้ พบว่าครัวเรือนมีการเก็บออมน้อย ขณะที่มีการกู้เพื่อใช้จ่ายมากขึ้น เช่น คนที่เพิ่งเริ่มทำงานเดือนแรกแต่ก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ เพราะมีโปรโมชั่นผ่อน 0% นาน 6 เดือน การช้อปปิ้งออนไลน์ที่สามารถซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา เป็นต้น

“ดังนั้น เพื่อไม่กระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้มากเกินตัว ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในระบบมีส่วนช่วยได้โดยไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้และให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติส่งสัญญาณถึงธนาคารพาณิชย์

ด้าน ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มองว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 78.7% ต่อจีดีพีนั้น หากพิจารณาดูเฉพาะตัวเลขดังกล่าวอาจจะมองว่าสูง แต่หากพิจารณาโครงสร้างและองค์ประกอบของหนี้การดูหนี้ครัวเรือน จะพบว่าหนี้ครัวเรือนของไทย ส่วนหนึ่งเป็นสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ราว 42.8% เป็นสินเชื่อที่มาจากสถาบันการเงินของรัฐ (แบงก์รัฐ) ประมาณ 28.4%

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการซื้อบ้านและรถยนต์ซึ่งมีหนี้มีหลักประกันประมาณ 50% ของหนี้ครัวเรือน และเป็นสินเชื่อเพื่อการดำเนินธุรกิจอีก 16.4% ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภค

กรณีที่ ธปท. ขอความร่วมมือไม่ให้แบงก์พาณิชย์มีโปรโมชั่น 0% เพื่อป้องกันหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นและป้องกันไม่ให้มีการก่อหนี้ครัวเรือนเกินตัวมากเกินไป ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้ผุู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อสินค้าซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องซื้อ ไม่ได้ซื้อเพราะถูกแรงกระตุ้นจากโปรโมชั่น

“ขณะนี้ระดับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ถ้าไม่นับรวมตัวเลขหนี้ธุรกิจ โดยหนี้ครัวเรือนจะมีสัดส่วนราว 65 % ของจีดีพี ซึ่งไม่ใช่เป็นระดับที่น่าตระหนก และใน 65% นี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้มีหลักประกัน ทั้งสินเชื่อบ้าน และรถยนต์ กว่า 50 % ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 3% ถือว่าปกติไม่ได้สูงกว่าหนี้ทั่วไปและอยู่ในสัดส่วนนี้มานานกว่า 10 ปี” ผู้อำนวยการ สศค.มองว่ายังไม่น่าวิตก

เมื่อถามความเห็นเรื่องนี้ในซีกธนาคารพาณิชย์ ปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เห็นว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง หากไม่ชำระหนี้คืนก็จะทำให้ระบบธนาคารล้มได้และเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี แต่การก่อหนี้ส่วนหนึ่งจำเป็น เช่น การซื้อที่อยู่อาศัย การซื้อรถยนต์ แต่บางเรื่องอาจเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

“ธนาคารพาณิชย์ต้องระมัดระวังไม่กระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้โดยที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะสำหรับการซื้อสินค้า หรือใช้จ่ายประเภทความสุขสำราญ เช่น เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง 0% การซื้อโทรศัพท์มือถือผ่อน 0% เป็นต้น ส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจ ต้องพิจารณารายละเอียดโครงการว่าปล่อยสินเชื่อไปแล้วจะก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ” ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทยระบุ

ด้าน พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือบัตรเครดิต “เคทีซี” ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าที่ใช้แบบการผ่อน 0% มีสูงถึง 95% เพราะเป็นโปรโมชั่นที่ลูกค้าสนใจมากที่สุด หมวดที่ลูกค้านิยมใช้ 0% ยังเป็นสินค้าคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า การเปลี่ยนยางรถ การซื้อประกัน ซึ่งถือว่าเป็นหมวดหมู่ที่ไม่ใช่การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย

“อย่างไรก็ดี หาก ธปท. ขอความร่วมมือก็ต้องดำเนินการเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่เรื่องที่สำคัญคือ บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือในการใช้เงินช่วยอำนวยความสะดวก การผ่อนชำระคืนของลูกค้าแต่ละคนจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะขาดวินัยในการผ่อนชำระหรือไม่” พิทยาให้ข้อมูลอีกด้านถึงการใช้บัตรเครดิต

ขณะที่ผู้บริหารกรุงศรีคอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า “การผ่อน 0% ยังมีความจำเป็นในกรณีที่ลูกค้ามีการใช้จ่ายที่จำเป็น ไม่ได้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น การใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งกรุงศรีคอนซูมเมอร์ ร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ นำเสนอทางเลือกในการแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็น ด้วยการผ่อนชำระ 0% นาน 3 เดือนผ่านบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์”

ดังนั้น หากมีการเลิกโปรโมชั่นผ่อน 0% อาจจะกระทบในบางรายการสินค้าเท่านั้น ส่วนผู้บริโภคเองต้องคำนึงถึงความจำเป็นที่แท้จริง ไม่ใช่ใช้จ่ายเพราะแรงกระตุ้นจากส่วนลดเท่านั้น เพราะหากเริ่มซื้อก่อนผ่อนทีหลังบ่อยๆ เข้า ก็จะเริ่มติดกับดักหนี้ ที่ยากจะหลุดพ้นได้….

เรื่องหนี้เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นทุกวัน

หากฝ่ายสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ หากประชาชนผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบจากการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น มีวินัยการเงิน

ย่อมจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ให้สังคมไทยหลุดพ้นจากติดกับดักหนี้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image