‘ชิมช้อปใช้’ เงินกำลังจะหมุนไป

‘ชิมช้อปใช้’ เงินกำลังจะหมุนไป

แม้ช่วงออกตัวของโครงการ “ช้อปชิมใช้” ดูเหมือนไม่ค่อยคึกคัก ในรอบที่เปิดให้ผู้ประกอบการ ห้างร้านต่างๆ เข้าร่วม ยอดการลงทะเบียนร่วมโครงการยังไม่เป็นไปตามเป้า จนต้องขยายเวลาออกไปอีก

แต่พอถึงรอบประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิโอน 1,000 บาทฟรีๆ จากรัฐบาล แถมด้วยรับเงินคืน 15% จากยอดใช้จ่ายจริงในการท่องเที่ยว สูงสุดไม่เกิน 4,500 บาท มีผู้สนใจล้นหลามถึงขั้นเว็บล่ม

เป้าหมายการขอรับสิทธิที่อั้นไว้ 10 ล้านคน คงอยู่ไม่ไกลเท่าไหร่

แต่เป้าหมาย “ชิมช้อปใช้” ที่รัฐบาลคาดหวังให้เกิดการจับจ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคช่วงปลายปี จะเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน พงษ์ศักดิ์ อินธรรม เลขาธิการสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ มองว่ามาตรการชิมช้อปใช้น่าจะมีผลทางจิตวิทยาเชิงบวก ตามนโยบายกระจายรายได้สู่ชุมชน แต่วงเงิน 1,000 บาทต่อคน ใช้จ่ายเฉพาะค่าที่พักและอาหารก็หมดแล้ว ถ้ามาเที่ยวที่เชียงใหม่ 2-3 วัน ต้องใช้เงิน 7,000-8,000 บาท แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ดีนัก ทำให้ประชาชนไม่กล้าเดินทาง หรือจับจ่ายใช้สอยมากนัก

Advertisement

“ชิมช้อปใช้ รายละ 1,000 บาท สามารถท่องเที่ยวในภูมิภาคหรือจังหวัดใกล้เคียงได้ แต่ไม่สามารถกระตุ้นท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคได้ กิจการที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก”

ขณะที่ วสันต์ เดชะกัน นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจหัตถกรรมบ้านถวาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ชิมช้อปใช้รายละ 1,000 บาท ไม่มีผลต่อธุรกิจหัตถกรรมท้องถิ่นมากนัก เพราะใช้จ่ายค่าที่พัก อาหารก็ไม่พอแล้ว โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขกำหนดให้ต้องใช้จ่ายข้ามจังหวัด ควรเปิดโอกาสใช้จ่ายภายในจังหวัดได้ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยตรง ไม่ต้องข้ามจังหวัด และเพิ่มวงเงินชิมช้อปใช้ เป็นรายละ 2,000-3,000 บาท เพื่อให้เม็ดเงินกระจายและครอบคลุมธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น น่าจะทำให้นโยบายและมาตรการดังกล่าวได้ผลมากกว่า

ด้าน อธิภูมิ กำธรวรรินทร์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง และอุปนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.ลำปาง ระบุว่า เป็นเรื่องที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงระดับฐานรากจริงๆ ส่งผลดีต่อพื้นที่และชุมชนที่ผู้คนจะไปท่องเที่ยว

Advertisement

หากมองระดับพื้นที่ จ.ลำปาง แน่นอนว่าย่อมส่งผลดีและเกิดประโยชน์อย่างมากในการกระตุ้นการท่องเที่ยว หากคนเข้ามาเที่ยวลำปางซัก 300,000 คน ก็จะทำให้เกิดรายได้และเงินสะพัดในพื้นที่ได้พอสมควร แต่หากมองภาพรวมทั้งประเทศแล้ว กับงบประมาณ 1.9 หมื่นล้านที่รัฐบาลทุ่มลงมาในโครงการชิมช้อปใช้อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก ถึงแม้จะมีเงินหมุนในระบบหลายรอบก็ตาม

“ที่สำคัญอยากให้แต่ละพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักแหล่งท่องเที่ยวและรับรู้ว่าร้านไหน ที่พักแห่งใด สินค้าประเภทไหน สามารถใช้จ่าย ‘ชิมช้อปใช้’ ได้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสนใจมาใช้บริการ และซื้อสินค้าที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว สำหรับพื้นที่ จ.ลำปาง เชื่อว่าคนจะมาเที่ยวแน่ เพราะมีภาพการท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลากหลาย ตามการกระตุ้นสร้างการรับรู้ของจังหวัดและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงใช้เงินชิมช้อปใช้ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถือว่าเป็นช่วงไฮซีซั่น เนื่องจากเข้าฤดูหนาว ดังนั้น ลำปางน่าจะเป็นเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวในโครงการชิมช้อปใช้นี้อย่างแน่นอน”

ขณะที่มุมมองของ บุญสร้าง บุญกอง ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม เห็นว่า “ชิมช้อปใช้” ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่พัก ร้านอาหาร สินค้าเกษตร อาหาร สินค้าโอท็อป เป็นการกระจายเม็ดเงินลงสู่ผู้ประกอบการหลากหลายกลุ่มอาชีพ ที่จะก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เม็ดเงินหมุนเวียนที่คาดว่าจะเพิ่มทวีคูณเป็นอีกหลายเท่าตัว

สำหรับจังหวัดสมุทรสงครามมีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ จำนวน 443 ร้าน และร้านถุงเงินอีก 434 ร้าน สำหรับใช้เงิน 1,000 บาทที่ทางการโอนเงิน ทั้งร้านประเภทอาหารจานด่วน ร้านอาหาร ที่พักรีสอร์ต โฮมสเตย์ โรงแรม และร้านกาแฟ เป็นต้น

ประโยชน์ของมาตรการนี้อีกประการหนึ่ง คือการทำให้ผู้ใช้ ผู้ประกอบการ คุ้นเคยกับสังคมไร้เงินสด ที่เป็นรูปแบบการใช้จ่ายในอนาคต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลมีกลุ่มเป้าหมายของโครงการที่ชัดเจน โดยเฉพาะชนชั้นกลาง การเข้าถึงโครงการต้องมีการลงทะเบียนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น เชื่อว่าจะมีผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจตัวจริงเข้าไม่ถึง

ดังนั้น ผู้ที่จะได้ประโยชน์จึงมีเพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ในขณะรัฐบาลมีเงินจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้มีรายได้น้อยจะเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด การเอาเงินที่มีอยู่อย่าง “จำกัด” ไปช่วยคนที่ “จำเป็น” ก่อน น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐควรคำนึงถึงเป็นลำดับต้นๆ

สำหรับความเห็นในฝั่งผู้ประกอบการอย่าง สุวรรณี เทียนสิวา เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดัง “อภิญญา” อำเภอเมืองอุทัยธานี ที่เข้าร่วมในโครงการนี้ กล่าวว่า ช่วงระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคมนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เกิดการใช้จ่ายเพิ่มมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงยอดขายในร้าน “อภิญญา” ด้วย ทางร้านได้ประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลเพื่อให้ทราบล่วงหน้าด้วยเช่นกันว่า ที่ร้านสามารถนำเงิน 1,000 บาทในโครงการชิมช้อปใช้มาใช้ได้

ทางร้านได้จัดเพิ่มจำนวนโต๊ะอาหาร รวมถึงวัตถุดิบเพิ่ม โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดและช่วงงานประจำปีของจังหวัด เพื่อรองรับลูกค้าที่จะเข้ามาในช่วงดังกล่าว

คาดว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยเพิ่มและกระจายรายได้ให้กับหลายจังหวัดได้เป็นอย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image