นักวิชาการ ชี้รัฐ‘ลด’ภาษียาเส้น สะท้อนนโยบายภาษียาสูบถึงทางตัน แนะรัฐวางแผนขึ้นภาษีแบบขั้นบันได

รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปรับลดภาษียาเส้น สะท้อนปัญหาของนโยบายภาษียาสูบในช่วงที่ผ่านมาของรัฐ ที่ขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดจนเกิดความปั่นป่วนในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนเป็นที่มาให้รัฐต้องตัดสินใจจะลดภาษี แนะรัฐเปลี่ยนแนวทางหันมาวางแผนการขึ้นภาษียาสูบแบบขั้นบันไดแทน

รายงานข่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมาได้เห็นชอบการลดอัตราภาษีสรรพสามิตยาเส้นสำหรับเกษตรกรที่ปลูกเอง หั่นเอง และขายเอง จากอัตรา 10 สตางค์ต่อกรัม เหลือเพียง 2.5 สตางค์ต่อกรัม โดยต้องมีปริมาณการขายไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้น รศ.ดร.อรรถกฤต ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจปรับลดภาษีดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นภายในเวลาเพียง 5 เดือนภายหลังจากการขึ้นภาษีครั้งที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของนโยบายภาษียาสูบที่ขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดด โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมารัฐบาลชุดก่อนเพิ่งประกาศขึ้นภาษียาเส้นไปถึง 19 เท่า

“การที่รัฐประกาศขึ้นภาษียาเส้น แล้วต่อมากลับมาประกาศลดภาษียาเส้น เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงว่า เหตุใดรัฐจึงไม่พิจารณานโยบายหรือแผนการขึ้นภาษีก่อนหน้านี้ไห้รอบคอบเสียก่อน โดยควรต้องมองทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม อย่างรอบด้านก่อนที่จะประกาศขึ้นภาษี และที่สำคัญคือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาษียาสูบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดทั้งยาเส้นและบุหรี่อาจไม่ใช่วิธีการขึ้นภาษีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

Advertisement

การลดอัตราภาษียาเส้นให้เฉพาะส่วนที่ปริมาณ 12,000 กิโลกรัม เปรียบเสมือนเป็นการสร้างขั้นอัตราภาษีขั้นใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งขั้น กลายเป็นว่าภาษียาเส้นจะมีถึง 3 ขั้น ซับซ้อนกว่าเดิม สวนทางกับแนวปฏิบัติที่ดีสากลที่เน้นระบบที่เรียบง่ายใช้อัตราเดียว”

ทั้งนี้ รศ.ดร.อรรถกฤตชี้ว่า ในช่วง 2-3 ปีมานี้ รายได้ที่แท้จริงของประชากรเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3-4 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 1 จึงไม่แปลกที่การขึ้นภาษียาเส้นในคราวเดียวถึง 19 เท่าทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ส่วนภาษีบุหรี่ที่กำหนดจะขึ้นจากอัตราร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2563 คาดว่าจะทำให้ภาระภาษีบุหรี่ราคาแพงขึ้นร้อยละ 60 ทันทีจากราคาในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 17 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ประชากรและเงินเฟ้อต่อปีถึง 2.6 เท่าตัว

Advertisement

รศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวทิ้งท้ายว่า สนับสนุนให้ขึ้นภาษียาสูบ แต่แนวทางที่อยู่ตรงกลางน่าจะเป็นการประกาศแผนโรดแมปค่อยๆ ขึ้นภาษีเหมือนกับในหลายๆ ประเทศ

“หากปรับอัตราภาษีตามมูลค่าจากร้อยละ 20 ค่อยๆ ขึ้นไปร้อยละ 5 ทุก 2 ปี จะทำให้ภาระภาษีบุหรี่ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6-7 ต่อปีจากปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของไทย และจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะชาวไร่ยาสูบด้วยมีเวลาปรับตัวมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงเสียดทานทางการเมืองโดยเฉพาะในระยะสั้นได้ จะได้ไม่ต้องมาคอยนั่งแก้ไขภาษีกันบ่อยๆ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image