กสิกรไทยปรับจีดีพีปีนี้ 2.8% ปีหน้าเสี่ยงต่ำ 3% ห่วงคนถูกเลิกจ้างเพิ่มหวังรัฐอัดมาตรการกระตุ้น

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทย ปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิม 3.1% หรือกรอบ 2.5-3.0% ปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบซึ่ง 8 เดือนแรก 2562 ติดลบ 2.2% จึงได้ปรับประมาณการส่งออกเป็นติดลบ 1% จากเดิมคาดอยู่ที่ 0% โดยภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกที่ชะลอตัวยังทำให้เอกชนชะลอการลงทุน ได้ปรับลดการลงทุนเอกชนลงมาที่ 3.2% จาก 4.2% และการบริโภคภาครัฐจาก 2.5% เป็น 2.3% ส่วนการบริโภคเอกชน และการลงทุนภาครัฐทรงตัวที่ 4.2% และ 1.5% ตามลำดับ และในปีนี้คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐจะมีส่วนช่วยหนุนจีดีพี 0.3% และในส่วนมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” คาดจะช่วยหนุนจีดีพีราว 0.02% ได้รวมไว้ในประมาณการแล้ว

นางสาวณัฐพร กล่าวว่า สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เบร็กซิทที่คาดว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง(โนดีล) รวมทั้งแรงกดดันจากค่าเงินบาทแข็งค่า จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่องไปถึงปี 2563 คาดว่า ผลกระทบให้จีดีพีไทยขยายตัวต่ำกว่า 3% หรือในกรอบ 2.5-3.0%  โดยภาครัฐควรมีมาตรการการคลังเพิ่มเติมเพื่อรองรับผลกระทบจากความเปราะบางของเศรษฐกิจ เนื่องจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย พบว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงมีการชะลอการรับพนักงานใหม่และมีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐอาจจะมีการตั้งกองทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องกลุ่มนี้ เพราะเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานมากที่สุด หากมีการปรับลดการทำงานล่วงเวลา ปรับลดชั่วโมงการทำงาน หรือเลิกจ้าง จะกระทบแรงงานในกลุ่มนี้และกระทบต่อการบริโภคโดยรวมได้

“เศรษฐกิจไทยปี 2562-2563 โตต่ำกว่าศักยภาพ หากสงครามการค้ากระทบมากกว่าคาดมีโอกาสที่อาจจะโตระดับ 2.5% ขณะนี้ยังเห็นผลกระทบในภาพรวมจากจีดีพีที่ลดลง แต่มีความเป็นห่วงหากธุรกิจได้รับผลกระทบมากขึ้นและอาจจะต้องมีการเลิกจ้างจะกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะจะทำให้คนไม่มีรายได้ การบริโภคก็จะชะลอลงไป เงินใช้จ่ายที่จะลงไปหมุนในระบบเศรษฐกิจลดลง” นางสาวณัฐพร กล่าว

นายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ จะกระทบการส่งออกของไทยในปี 2563 เพิ่มเติมอีก 1,000-2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังต้องรับรู้ผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนต่อเนื่อง ขณะที่ในปี 2562 คาดการณ์ผลกระทบไว้ที่ 2,100-3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ แม้ว่าไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตบ้าง แต่ก็จะเน้นไปที่ธุรกิจที่ไทยเป็นฐานการผลิตเดิม ส่วนสถานการณ์ เบร็กซิทที่คาดว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง(โนดีล) โดยขั้นตอนต่อไปคือการตกลงกันเรื่องรูปแบบและข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อตลาดเงิน แม้ว่าผลกระทบของเบร็กซิทต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากนัก

Advertisement
ผู้บริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image