มติกกร.หั่นจีดีพี เหลือ 2.7-3% พิษเศรษฐกิจโลก บาทแข็ง กระทบส่งออก อาจถึงลบ2%

มติกกร.หั่นจีดีพี เหลือ 2.7-3% พิษเศรษฐกิจโลก บาทแข็ง กระทบส่งออกหดตัวอาจถึงลบ2% หวั่งชิมช้อปใช้ ดึงศก.0.2%

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร. แถลงผลประชุมว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม บ่งชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2562 ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงอย่างต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยถ่วงหลักจากความเสี่ยงในภาคต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการแข็งค่าของเงินบาท ฉุดให้การส่งออกยังคงหดตัวเป็นวงกว้างทั้งในรายการสินค้าและตลาดส่งออกหลัก กระทบต่อภาคการผลิต ในขณะเดียวกัน แรงขับเคลื่อนภายในประเทศก็แผ่วตัวลงทั้งการบริโภคและการลงทุน มีเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากผลของฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน

และภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจหลักในโลก, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยืดเยื้อ, ประเด็นเบร็กซิทและทิศทางเงินบาทที่แข็งค่า กกร. จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2562 มาที่ -2.0% ถึง 0.0% จากเดิม -1.0% ถึง 1.0%

และแม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน อาทิ มาตรการชิม ช้อป ใช้, มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร, มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เป็นต้น แต่คาดว่าแรงบวกจะสามารถชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันจากภายนอกประเทศได้บ้าง ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงมาเป็น 2.7-3.0% จาก 2.9-3.3%

Advertisement

แต่อย่างไรก็ตาม กกร.คาดหวังที่จะเห็นมาตรการเสริมจากภาครัฐเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการเร่งผลักดันกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อรับมือกับความท้าทาย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ นอกจากนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควรมีการเสนอราคาเป็นสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินท้องถิ่น

ผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเสียหายและกระทบต่อเศรษฐกิจ ประมาณ  20,000 – 25,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ก็จะมีผลกระทบจากความเสียหายของบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร

ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี จึงขอให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เพื่อลดภาระและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ว ดังนี้

Advertisement

1. ขอให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น งดการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ทุกชนิด อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย เป็นระยะเวลา 1 ปี แก่ผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

2. ขอให้ภาครัฐพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมธนาคาร สำหรับ SME ที่ประสบอุทกภัยที่ยังมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงิน

3. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนใหม่เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้มีเงินทุนหมุนเวียน ตลอดจนซ่อมแซมฟื้นฟูสถานประกอบการและเครื่อจักร โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 1% หรือต่ำกว่า นาน 2 ปี

นายกลินท์ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการ ชิม ช้อป ใช้ ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมีการลงทะเบียนเต็ม 1 ล้านคนต่อวันอย่างรวดเร็ว และยังมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ส่งผลให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ภาคเอกชนยินดีช่วยประชาสัมพันธ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการ ชิม ช้อป ใช้ ซึ่งคาดว่าจะโดยมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาท สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1-0.2%

“การขยายมาตรการชิมช็อปใช้เฟส 2 ควรดำเนินการหลังจากประเมินความคุ้มค่าของการใช้มาตรการเฟสแรกไปแล้วว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงใด โดยอาจจะเว้นระยะเวลาไปสักระยะอาจจะเป็นช่วงสงกรานต์ ควรต้องระมัดระวังการใช้มาตรการติดต่อกัน ปลายปีเป็นช่วงที่ประชาชนมีการใช้จ่าย และผู้ประกอบการมีการจัดโปรโมชั่นอยู่แล้ว รัฐควรใช้เฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจซึมเท่านั้น”นายกลินท์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image