วิศวกรโครงสร้างฯแนะภาครัฐตรวจการตรวจสอบสะพานไทยรายเดือน/ปี ห่วงเกิดเหตุถล่มอย่างไต้หวัน

นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เปิดเผยถึงข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุการถล่มของสะพานที่ประเทศไต้หวันเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่มีผู้บาดเจ็บหลายรายว่า สะพานที่ถล่มเป็นสะพานช่วงยาว140 เมตรระบบโครงสร้างเป็นสะพานโค้งพาดช่วงเดียวและมีสายเคเบิ้ลหิ้วพื้นสะพานอีกที สำหรับระบบโครงสร้างแบบนี้จะเกิดแรงถีบที่ฐานรากสะพานค่อนข้างมากและตัวสายเคเบิ้ลที่หิ้วสะพานต้องรับน้ำหนักพื้นสะพานค่อนข้างมากซึ่งจากการถล่มของสะพานที่เกิดขึ้นจะเห็นพื้นสะพานหักกลางช่วงแล้วตกลงไปในแม่น้ำ โดยสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างสะพานอาจมีได้หลายสาเหตุ เช่น 1. ปัจจัยที่เกี่ยวกับการวิบัติในส่วนโครงสร้างสำคัญเช่นที่บริเวณคานโค้งหรือเสา 2. ปัจจัยที่เกิดจากการวิบัติที่บริเวณฐานรากเช่นฐานรากทรุดตัวหรือถูกแรงถีบจากคานโค้ง 3. การบำรุงรักษาสะพานซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องลวดสลิงอาจเกิดสนิมขึ้นได้แม้ว่าสะพานนี้จะเพิ่งก่อสร้างมาเมื่อประมาณ 20 ปีมานี้เองก็อาจเกิดสนิมได้ และ 4. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นพายุไต้ฝุ่นที่อาจทำให้สะพานได้รับความเสียหายเมื่อรับน้ำหนักรถที่มาใช้งานสะพานจึงเกิดการพังถล่มสำหรับสาเหตุการวิบัติของสะพานจะเป็นสาเหตุใดนั้นยังไม่สามารถสรุปได้ขณะนี้ต้องรอผลการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญของประเทศไต้หวันเสียก่อน

นายอมร กล่าวว่า สะพานเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญและอยู่กลางแจ้งต้องสัมผัสกับอากาศ ลม ความชื้น และแสงแดดตลอดเวลาจึงมีโอกาสเสื่อมสภาพได้รวดเร็ว อีกทั้งยังอาจประสบกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงดังนั้นบทเรียนจากสะพานถล่มในไต้หวันจะต้องนำมาระมัดระวังกับสะพานในประเทศไทยซึ่งก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดโปรแกรมการตรวจสอบสะพานโดยแบ่งเป็นการตรวจสอบย่อยรายเดือน การตรวจสอบใหญ่ประจำปี และการตรวจสอบเฉพาะกรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่นน้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว เนื่องจากในขณะนี้ในประเทศมีอุทกภัยซึ่งอาจทำให้สะพานได้รับความเสียหายจากกระแสน้ำและสิ่งของลอยน้ำกระแทกสะพานอีกทั้งฐานรากสะพานอาจจะทรุดตัวเสียหายได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรตรวจสอบความปลอดภัยของสะพานเพื่อป้องกันมิให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image