เฉลียงไอเดีย : เอ็มดีเงินติดล้อ‘ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล’

เฉลียงไอเดีย : เอ็มดีเงินติดล้อ‘ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล’

เฉลียงไอเดีย : เอ็มดีเงินติดล้อ‘ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล’
ขอช่วยคนไทยหลุดพ้นกับดับหนี้นอกระบบ
ชูทุกคนมีสิทธิเข้าถึงเงินทุนในระบบ

ทุกคนคงจะคุ้นเคยกับ “เงินติดล้อ” ผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ ที่มีการสื่อสารผ่านโฆษณาต่างๆ แบบตรงไปตรงมา เน้นเรื่องใกล้ตัว และเข้าใจง่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ติดดินและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้จริง

“กลุ่มเป้าหมายของเงินติดล้อ คือ กลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ (Under Bank) เป็นกลุ่มที่มีรายได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน หรือเรียกว่าเป็นกลุ่มหางยาว (Long Tail) ตามรูปกราฟที่สะท้อนจากรายได้ของประชากรไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่กลุ่มคนที่จัดอยู่ในประเภทกลุ่มหางยาว มักจะเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ขาย หาบเร่ แผงลอย กลุ่มอาชีพอิสระ ที่มีรายรับรายจ่ายเป็นเงินสด ไม่มีรายการเดินบัญชี หรือไม่เคยทำบัญชีรายรับและรายจ่าย ทำให้ไม่มีข้อมูลที่จะเข้าถึงสินเชื่อในระบบหลัก อย่างสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ จงมักต้องพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบแทน เงินติดล้อจึงเข้ามาตอบโจทย์ให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าสู่แหล่งเงินทุนที่โปร่งใสและเป็นธรรมได้” คุณหนุ่ม-ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด เล่าให้ฟังระหว่างที่พาเดินชมสำนักงานของเงินติดล้อ ที่อาคารอารีย์ฮิลล์

คุณหนุ่ม สำเร็จการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ (การเงิน) หลักสูตรนานาชาติจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประสบการณ์ทำงานทั้งเอไอจี คอนซูมเมอร์ ไฟแนนซ์ เอเชีย แปซิฟิก และบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ก่อนที่จะเข้ามาร่วมงานกับเงินติดล้อตั้งแต่ปี 2551 เริ่มต้นในด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตั้งแต่ปี 2556

Advertisement

ภาพลักษณ์ของเงินติดล้อผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่ดูเป็นบริษัทติดดินนั้น ไม่ได้สะท้อนว่าองค์กรเป็นองค์กรที่ล้าสมัย มีกระบวนการทำงานยุ่งยากซับซ้อนเหมือนองค์กรในอดีต

แต่ตรงกันข้าม กระบวนการทำงานติดล้อเหมือนชื่อบริษัท “เงินติดล้อ” เรียกได้ว่าเป็น Tech Company ย่อมๆ ให้ความสำคัญด้านไอที ที่มีจำนวนพนักงานด้านไอทีมากกว่า 200 คน เพื่อพัฒนาระบบด้านหลังบ้านและหน้าบ้าน ระบบการสมัครขอสินเชื่อผ่านช่องทางต่างๆ ให้สะดวกและง่าย และโดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ประเมินความเสี่ยงลูกค้า ทั้งนี้ กระบวนการทำงานในองค์กรเป็นรูปแบบ Aglie การกระจายการทำงานเป็นทีม เป็นโปรเจ็กต์ เพื่อให้กระบวนการทำงานรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งมี Scrum มาใช้เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อช่องทางสาขาและช่องทางออนไลน์ต่างๆ

ขณะที่สำนักงานของเงินติดล้อถูกออกแบบพื้นที่ทำงานให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ มีสัดส่วนของพื้นที่ส่วนกลางคิดเป็น 30% ของพื้นที่สำนักงานโดยรวม เพื่อใช้สำหรับการพูดคุย การประชุม สร้างบันไดขึ้นลงระหว่างชั้นแทนการใช้ลิฟต์เพื่อช่วยสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างพนักงาน เลือกใช้สีและวัสดุตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศที่หลากหลาย รวมถึงเป็นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ด้วย

ทั้งกระบวนการทำงานและการสร้างบรรยากาศการทำงานในสำนักงานของ “เงินติดล้อ” คุณหนุ่มบอกว่า มาจากความเชื่อของเงินติดล้อ ที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการทำธุรกิจก็ว่าได้ นั่นคือ “ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม”

คุณหนุ่มบอกว่า แม้สินเชื่อนอกระบบจะเข้าถึงง่าย แต่การจ่ายคืนหนี้ไม่ง่าย เพราะการกู้ไม่ได้คิดถึงเรื่องดอกเบี้ยที่ชัดเจน มีระบุแค่ว่าต้องจ่ายคืนเท่าไร หากผู้กู้ไม่มีความรู้ทางการเงินก็จะเสียเปรียบ เช่น การกู้นอกระบบ 10,000 บาท จ่ายคืน 300 บาท/วัน ระยะเวลา ใน 40 วัน สามารถจ่ายได้ 400 บาทต่อวัน จำนวนเงินเท่านี้หากสามารถจ่ายได้เขาก็ตอบตกลงกู้ แต่หากพิจารณากลับมาจะพบว่า กู้ 10,000 บาท ต้องจ่ายคืน 12,000 บาท มีดอกเบี้ยถึง 2,000 บาท หรือ 20% ทีเดียว

“เงินติดล้อต้องการช่วยกลุ่มหางยาว รักษาโอกาสตรงนี้ ลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เขาไม่ติดกับดักหนี้นอกระบบ” คุณหนุ่มบอก และว่า ดังนั้น เงินติดล้อจึงต้องสร้างวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง โดยมีผู้บริหารเป็นแบบอย่าง ให้กับพนักงานในองค์กร

ปัจจุบันเงินติดล้อมีพนักงานราว 5,000 คน ขณะที่ฝ่ายบุคลากรของเงินติดล้อแทนที่จะใช้ชื่อ HR-Human Resource Department ก็เปลี่ยนเป็นใช้ชื่อว่า Happy People Department แทน ทั้งนี้ หัวใจในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแรงอยู่ที่การทำอย่างต่อเนื่อง คงเส้นคงวา และมีการวัดผลที่ชัดเจน

คุณหนุ่มยังกล่าวถึงวัฒนธรรมองค์กรของเงินติดล้อ ขับเคลื่อนด้วยค่านิยมองค์กร 7 ข้อ ได้แก่ 1.สร้างสรรค์ แบ่งปันโอกาสสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน 2.รู้สำนึกและมีจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของ 3.ร่วมมือร่วมใจ ตรงไปตรงมา เพื่อความสำเร็จของทีม 4.ทำทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ และเป็นกันเอง 5.กระหายเรียนรู้และไม่หยุดพัฒนาตนเอง 6.กล้าทดลองในสิ่งใหม่ พร้อมก้าวไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และ7.ทำงานให้เต็มที่และปาร์ตี้ให้สุด

ซึ่งข้อสุดท้ายน่าจะโดนใจไม่ใช่เพียงแค่พนักงานเงินติดล้อทุกคน แต่คงหมายรวมถึงพนักงานของบริษัทห้างร้านอื่นๆ ทุกบริษัทด้วย

คุณหนุ่มกล่าวต่อไปว่า ปี 2562 นี้ เงินติดล้อตั้งเป้าหมายเติบโตสินเชื่อ 6% คิดเป็นยอดสินเชื่อใหม่ 35,000 ล้านบาท ซึ่งยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 39,713 ล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีลูกค้าเติบโต 25% จาก 450,000 บัญชี ณ สิ้นปี 2561 เป็น 560,000 บัญชี โดยบัญชีหลักๆ เป็นการเติบโตของสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ซึ่งคิดเป็น 58% ของยอดบัญชีลูกค้าทั้งหมดในส่วนของการขยายสาขาใหม่ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเปิดเพิ่มอีก 187 สาขา ส่งผลให้จำนวนสาขาเพิ่มขี้นเป็น 1,000 สาขา ณ สิ้นปีนี้

“แม้ว่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้งหมดไม่ใช่จากการวัดประสิทธิภาพการดำเนินงาน (KPI) ที่เงินติดล้อต้องการ เพราะ KPI ที่แท้จริงของเงินติดล้อ คือการได้ช่วยเหลือลูกค้าให้เข้าถึงสินเชื่อนอกระบบ ไม่ติดกับดักสินเชื่อนอกระบบนั่นเอง”

ดังนั้นในปี 2561 ที่ผ่านมา เงินติดล้อจึงมีแคมเปญลดดอกเบี้ยลงมาที่ 0.68% เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกที่สุดในอุตสาหกรรมให้กับลูกค้าทุกคน ซึ่งสามารถช่วยลูกค้าประหยัดเงินจ่ายดอกเบี้ยลงได้กว่า 600 ล้านบาท โดยเงินติดล้อไม่ได้คิดในส่วนของบริษัทว่าจะต้องเสียรายได้ไปเท่าไร ทั้งนี้เพราะด้วยวัฒนธรรมองค์กรเชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนสร้างการเติบโตขององค์กรที่ยั่งยืนในระยะยาวได้มากกว่า

จากแนวคิดของคุณหนุ่มข้างต้นยืนยันว่า เงินติดล้อเป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วย โดยเฉพาะเปลี่ยนแนวคิดแผนกบุคคล เป็น Happy People Department และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรตามค่านิยม 7 ข้อ

จุฑามาศ ศรีสวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image