นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการประเมินภาคการเงินไทยตามโครงการประเมินภาคการเงินของโลก(เอฟแซพ) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ซึ่งเป็นการขอเข้ารับการประเมินโดยสมัครใจเพื่อให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุงสามารตั้งรับวิกฤติการเงินที่อาจเกิดขึ้น และเพิ่มความน่าเชื่อถือทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจการเงินไทย โดยในภาพรวมระบบการเงินของไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงสามารถรองรับความผันผวนได้ดี และการกำกับดูแลภาคการเงินของไทยมีประสิทธิภาพสูงเป็นไปตามมาตรฐานสากล เทียบเคียงได้กับประเทศศูนย์กลางการเงินของโลก อาทิ สหรัฐ อังกฤษ ฮ่องกง และสิงคโปร์ สำหรับการกำกับดูแลภาคการธนาคารอยู่ในระดับดีมาก มีการประเมิน 29 ข้อ โดยจำนวน 24 ข้อได้ระดับดีมาก และระดับดี 5 ข้อ โดยธนาคารพาณิชย์ไทยมีฐานะมั่นคง มีเงินกองทุนและสภาพคล่องสูง มีหลักเกณฑ์การดูแลและการตรวจสอบที่เท่าทันความเสี่ยง ส่วนการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินที่สำคัญในส่วนของระบบบาทเนต จำนวน 17 ข้อ โดยได้รับผลการประเมินอยู่ในระดับดีมากจำนวน 16 ข้อ และระดับดี 1 ข้อ โดยระบบมีความมั่นคงปลอดภัย มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

“ไอเอ็มเอฟและเวิดแบงก์มีข้อเสนอแนะให้มีการขยายนำมาตรการกำกับดูแลระบบการเงิน(แมคโครพรูเด็นเชียล) ที่ใช้กับธนาคารพาณิชย์ ไปยังหน่วยงานที่ให้บริการการเงินอื่น เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ) สหกรณ์ด้วยเพื่อป้องกันความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งธปท. จะพิจารณาว่าจะขยายได้อย่างไรบ้าง รวมทั้ง เห็นว่าควรมีความชัดเจนการกำกับดูแลแบงก์รัฐที่ยังมีความลักลั่นการกำกับดูแลระหว่างธปท. และกระทรวงการคลัง ด้านสหกรณ์ที่ควรปรับปรุงกฎระเบียบ อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎระเบียบใหม่ นอกจากนี้ ควรพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน” นายวิรไท กล่าว

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า การกำกับดูแลภาคตลาดทุนของไทยโดยรวมได้มาตรฐานสากล การกำกับดูแลภาคธุรกิจหลักทรัพย์ จำนวน 37 ข้อ ได้รับการประเมินดีมาก 35 ข้อ และดีมาก 2 ข้อ โครงสร้างพื้นฐานระบบการเงิน จำนวน 20 ข้อ ได้รับการประเมินระดับดีมาก 17 ข้อ ส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูแล ได้ระดับดีมากทั้ง 5 ข้อ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) กล่าวว่า ภาคประกันภัยได้รับผลการประเมินระดับดีมาก โดยการประเมิน 26 ข้อ ได้รับการประเมินในระดับดีและดีมาก 22 ข้อ อย่างไรก็ตาม คปภ. จะมีการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยมากขึ้น เช่น การกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง การกำกับคนกลางและพฤติกรรมทางการตลาด การดำรงเงินกองทุน สำรองประกันภัย เป็นต้น