‘จุรินทร์’ รับดอกไม้ กำลังใจจากสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เร่งพิจารณาหนี้สินเกษตรกรทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พร้อมด้วย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้รับมอบดอกไม้ให้กำลังใจจากตัวแทนเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ก่อนการประชุมกรรมการกองทุนครั้งที่ 1/2562 วันนี้ ที่อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวาระพิจารณาสำคัญๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน โดยตัวแทนเกษตรกรร่วม 100 คน มาติดตามการประชุมนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งก่อนหน้านี้นายจุรินทร์สั่งการให้นำวาระความเดือดร้อนของเกษตรกร 7 เรื่อง ที่ค้างคามานานนั้นขึ้นมาพิจารณา

รายงานข่าวแจ้งว่า ระเบียบวาระการประชุมวันนี้ 4 วาระ แต่วาระสุดท้ายคือเรื่องสำคัญ 7 ข้อ ที่ต้องใช้อำนาจกรรมการตัดสินใจ นอกเหนือจากวาระเพื่อทราบ วาระรายงานอื่นๆ คือวาระเพื่อพิจารณา

1.การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ ซึ่งกรรมการ (บอร์ด) ต้องพิจารณาให้คณะกรรมบริหารหนี้พิจารณาการใช้งบประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้ 4 ธนาคาร (ธ.ก.ส. ออมสิน ธอส. เอสเอ็มอีแบงก์ ตั้งแต่ปี 2546) เมื่อซื้อแล้ว กองทุนบริหารโฉนด สามารถปล่อยให้เกษตรกรหรือทายาทเช่าซื้อเพื่อใช้ต่อไปได้

2.ขอความเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรณีหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท โดยบอร์ดต้องพิจารณานำเข้า ครม.เพื่อมอบอำนาจให้กรรมการกองทุนใช้งบประมาณมาจัดการซื้อหนี้เกษตรกรแต่ละรายที่ยอดเกิน 2.5 ล้านบาท รวมทั้งหมด 2,300 ล้านบาท (เป็นหนี้ธนาคารอื่นในข้อ 1 ยกเว้น ธ.ก.ส.) ซึ่งรวมอยู่ในงบ 3,500 ล้านบาทในเบื้องต้น

Advertisement

3.ขอความเห็นชอบจัดการหนี้ที่ถูกเจ้าหนี้ขายทรัพย์สินเป็นประกัน (NPA ทรัพย์ที่ถูกขายทอดตลาด) บอร์ดต้องพิจารณาให้คณะกรรมการจัดการพิจารณารายละเอียดการซื้อหนี้ NPA 607 ล้านบาท (ซื้อไปแล้ว 247 ล้านบาท) ซึ่งบอร์ดก่อนหน้านี้ได้ชะลอโดยอ้างอิงถึงเรื่องผู้บริหารกองทุนไม่มีอำนาจจัดการ ล่าสุดมีข้อสรุปว่าผู้บริหารกองทุนมีอำนาจจัดการ เรื่องนี้จึงยังค้างอยู่

4.พิจารณาแนวทางการชำระหนี้แทนสถาบันเกษตรกร กรณีการทดรองจ่ายเงินชดเชย ซึ่งบอร์ดต้องพิจารณาโดยพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แทนสถาบันเกษตรกร กรณีกรรมการกองทุนปี 2548 รับหลักการให้ลดหนี้ 50% และตัดดอกเบี้ยทิ้ง ให้เกษตรกรที่เป็นหนี้สหกรณ์จำนวน 43,004 ราย (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2549) โดย ครม.ยุคนั้นให้กองทุนจ่ายชดเชยก่อนโดยเอาเงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ 1,392 ล้านบาท สถานะปัจจุบันทางกองทุนต้องการให้ ครม.ชดเชยเงินคืนกองทุนและลดหนี้ให้เกษตรกรอีก 50%

5.ปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการโอนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันชำระหนี้ และการเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อทรัพย์สินไปจากกองทุน พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) รวมถึงบรรดาระเบียบ ประกาศ หรือเกณฑ์อื่นใดที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้ขอให้บอร์ดพิจารณาให้อำนาจกองทุนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการเช่าซื้อ (เป็นข้อเรียกร้องของแกนนำ)

Advertisement

6.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปองค์กรและจัดทำโครงการพิเศษเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีเร่งด่วน บอร์ดให้อำนาจกองทุนพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปองค์กรและจัดทำโครงการพิเศษเพื่อเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรเร่งด่วน

7.กำกับการปฏิบัติงานคณะกรรมการบริการ เร่งออกประกาศหลักเกณฑ์ว่าด้วยการฟื้นฟูฯ ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ว่าด้วยการพิจารณาแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรขององค์กรเกษตรกรฯ พ.ศ.2562 ขอให้บอร์ดให้อำนาจกองทุนพิจารณาระเบียบให้กรรมการบริหารออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการฟื้นฟูภายใต้ระเบียบของกรรมการเกี่ยวกับแผนและโครงการฟื้นฟู

ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ค้างมาตั้งแต่รัฐบาลยุคปี 2546 และยังต้องอาศัยระเบียบ กฎหมาย และมติ ครม.แก้ไขอีกหลายรายการ ทั้งนี้ เกษตรกรหลายกลุ่มตั้งความหวังไว้ที่การทำงานอย่างตั้งใจจริงของนายจุรินทร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้รับมอบอำนาจประธานกรรมการนี้จากนายกรัฐมนตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image