อีไอซีเปิดปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจฉุดจีดีพีโตแต่ 2.8% คาดลากยาวปีหน้าหวังรัฐอัดนโยบายการเงินการคลังหนุน

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์(อีไอซี) เปิดเผยว่า อีไอซีได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี2562 ลงมาเหลือ2.8% จากเดิมที่คาด3.0% และปรับลดประมาณตัวเลขทุกตัวโดยการส่งออกติดลบ2.5% จากเดิมคาดติดลบ2.0% ด้านการบริโภคเอกชนคาดขยายตัว4.2% จากเดิม4.5% การลงทุนเอกชนขยายตัว2.8% จาก3.4% ส่วนการลงทุนภาครัฐ2.2% จาก2.9% และการบริโภคภาครัฐขยายตัว1.9% จาก2.0% ขณะที่การท่องเที่ยวคาดขยายตัวได้5.1% หรือจำนวนนักท่องเที่ยว40.1 ล้านคนโดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวนักท่องเที่ยวจีนและอานิสงส์เหตุการณ์ประท้วงในในฮ่องกงมีผลดีต่อการท่องเที่ยวไทยในระยะสั้นสำหรับปี2563 คาดจีดีพีเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่2.8% การส่งออกขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่0.2% จากปีนี้ที่ติดลบซึ่งยังต้องติดตามปัจจัยสงครามการค้าว่าอาจจะส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดได้การบริโภคเอกชนขยายตัวลดลงมาที่3.2% การลงทุนเอกชน2.7% การลงทุนภาครัฐ4.9% และการบริโภคภาครัฐขยายตัว2.0%

นายยรรยง กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยสำคัญทั้งปีนี้และต่อเนื่องปี 2563 คือ สงครามการค้าที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกและเริ่มส่งผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่พบว่า การการจ้างงานติดลบ รวมทั้งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศท่องเที่ยวของไทย ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องเมื่อแปลงรายได้จากดอลลาร์สหรัฐมาเป็นบาทได้รายได้น้อยลงมีผลต่อการแข่งขันการส่งออกสินค้าที่ทำให้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร และกระทบต่อการท่องเที่ยวเพราะรายได้การท่องเที่ยวต่อหัวปรับลดลง คาดว่าค่าเงินบาท ปี2562 จะอยู่ในกรอบ 30.30-30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปี2563 อยู่ที่ 30.00-31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อีกปัจจัยคือ การกลับทิศทางของวัฏจักรการเติบโตด้วยสินเชื่อที่เป็นแรงหนุนเศรษฐกิจสำคัญ เพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเกือบ 79% ต่อจีดีพีเป็นข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้นและการเติบเติบโตสินเชื่อชะลอลง ทั้งนี้ต้องติดตามความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น เบร็กซิท การประท้วงในฮ่องกง และความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอเพิ่มเติมและอาจเกิดความผันผวนในตลาดเงินโลกได้ ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศมาจากความเปราะบางทางการเงินที่มีมากขึ้นทั้งในส่วนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอสเอ็มอีสะท้อนจากระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ทั้งในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่โน้มสูงขึ้นจากผลกระทบสะสมของภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นรายได้ที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ทำให้ยอดขายของธุรกิจและรายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มกระจุกตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณรวมถึงประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายของภาครัฐก็ยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงภายในสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

นายยรรยง กล่าวว่า อย่างไรก็ตามปัจจัยหนุนคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐซึ่งโครงการลงทุนใหญ่ที่ได้ลงนามสัญญาแล้วมูลค่ากว่า7.95 แสนล้านบาทคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายในปี2563 เป็นต้นไปรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการการเงินที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง0.25% อยู่ที่1.25% เพื่อประคับประคองกำลังซื้อในประเทศผ่านช่องทางการลดต้นทุนทางการเงินซึ่งแม้อาจจะไม่กระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมใหม่ได้มากนักภายใต้ความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูงแต่จะมีส่วนลดภาระการชำระหนี้ให้กับครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีหนี้อยู่แล้วเป็นสำคัญรวมทั้งมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี2563

นายยรรยง กล่าวว่า ส่วนมาตรกรกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ของภาครัฐ3 แสนล้านบาทคาดว่าจะมีผลราว0.3% ของจีดีพีในส่นมาตรการชิมช้อปใช้10,000 ล้านบาทคาดมีผล0.03% แต่ยังต้องรอประเมินผลส่วนเพิ่มอีกครั้งเพราะหากประชาชนนำเงิน1,000 บาทมาใช้ซื้อสินค้าประจำวันและเก็บเงินของตนเองไว้ออมจะไม่ได้ทีผลมากนักแต่หากนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวจะสามารถกระตุ้นได้เพิ่มขึ้นอีก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image