ฐากร ตัณฑสิทธิ์ โชว์โรดแมปขับเคลื่อน 5G

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ โชว์โรดแมปขับเคลื่อน 5G

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ โชว์โรดแมปขับเคลื่อน 5G

หมายเหตุ“มติชน” จะจัดเสวนา “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN” ในวันที่ 30 ตุลาคม ณ ห้อง อินฟินิตี้ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ ซึ่งจะมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นถึงทิศทางการพัฒนาประเทศไทยสู่เทคโนโลยี 5G ว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อภาคประชาชน ธุรกิจ และเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงได้รับรู้แนวคิดต่างๆ เช่น การประมูล แผนลงทุน และเตรียมความพร้อมอย่างไรให้รับมือและใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี 5G โดยมีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมบรรยาย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
เลขาธิการ กสทช.

จากการประชุมผู้นำองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน หรือการประชุมอาเซียน เทเลคอมมูนิเคชั่น เร็กกูเลเตอร์ เคานซิล (เอทีอาร์ซี) และความคืบหน้าการแลกเปลี่ยนข้อมูล 5G ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา พบว่า สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย มีความพยายามผลักดันการขับเคลื่อน 5G โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมิถุนายน 2563 ดังนั้นหากประเทศไทยมีการขับเคลื่อนที่ล่าช้า จะส่งผลให้เสียเปรียบในการแข่งขัน จึงรายงานผลการประชุมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมเสนอให้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันการขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

Advertisement

หลังจาก ‘คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน’ ผ่านการเห็นชอบ โดยมีคำสั่งให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นผู้รับผิดชอบสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงดีอีเอสได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อทราบถึงแนวทางในการจัดตั้งรวมกัน โดยเบื้องต้นกำหนดให้ กสทช. ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ และในสัปดาห์หน้าจะมีการยกร่างรายชื่อคณะกรรมการร่วมกัน จากนั้นจะรายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในทันที

โดยสัปดาห์หน้าจะมีการยกร่างรายชื่อคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงดีอีเอสอีกครั้ง เพื่อผลักดันการขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน จะทำให้ทิศทางการผลักดันการขับเคลื่อน 5G มีความชัดเจนขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่ต้องเป็นผู้ลงทุน มีความเชื่อมั่นและสามารถลงทุนได้อย่างตรงจุด โดย 5G จะแตกต่างจากระบบ 3G และ 4G ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากภาคโทรคมนาคมจะได้รับประโยชน์เพียง 20% ส่วนอีก 80% จะเกิดประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม, ภาคการค้าและการเงิน, ภาคบริการสาธารณะ, ภาคการขนส่ง, ภาคการศึกษา และภาคสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มหาศาล

Advertisement

รายงานจาก ‘สมาคมจีเอสเอ็ม’ ซึ่งเป็นองค์กรดูแลมาตรฐานจีเอสเอ็ม ที่มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม เป็นสมาชิกมากกว่า 800 รายจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ระบุว่า ปัจจุบันมี 40 ประเทศทั่วโลกที่เปิดให้บริการ 4G อย่างเต็มรูปแบบ และ 4G ช่วยเรื่องการพัฒนาประเทศด้านดิจิทัลอย่างมาก โดย 40 ประเทศดังกล่าวมีประเทศไทยด้วย ดังนั้น การพัฒนา 5G และการประมูลคลื่นความถี่ควรเกิดขึ้นโดยเร็ว

กสทช. จึงได้เสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน มีคณะทำงาน 10-15 คน ประกอบด้วยหน่วยงาน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย เพราะ 5G จะเกิดประโยชน์อย่างมากในหลายอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องดึงหน่วยงานที่จะได้รับประโยชน์เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน โดยมองว่า การจัดตั้งคณะทำงานชุดใหญ่จะทำให้การทำงานไม่คล่องแคล่ว ส่งผลให้การขับเคลื่อนเป็นไปด้วยความล่าช้า

ในคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติ เสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นรองประธาน กรรมการจะเป็นรัฐมนตรีว่าการในแต่ละกระทรวง และเพื่อให้การทำงานได้คล่องยิ่งขึ้น ก็จะมีชุดคณะทำงานแยกออกเป็นส่วน ที่มีตัวแทนสอดรับกับเป้าหมายนั้น เช่น เบื้องต้นเน้นไปอีอีซี ก็จะมีรัฐมนตรีดูแลด้านอีอีซี ด้านลงทุน เป็นต้น

ความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อน 5G นั้น ก็เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมีการสร้างบรรยากาศในการลงทุนที่ดีให้กับประเทศไทย อีกทั้งช่วยประคองเศรษฐกิจของโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวให้กระเตื้องขึ้น โดย 5G ได้ถูกคาดการณ์ว่า จะสามารถสร้างผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมากมาย ดังเช่นการนำมาประยุกต์ใช้กับอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) ในรูปแบบของสัญญาอัจฉริยะ (สมาร์ท คอนแทร็ก) เพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้ง ดุลยพินิจ การต่อรอง และความผิดพลาดของมนุษย์

ด้วยคุณสมบัติของ 5G ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อข้ามผ่านข้อจำกัดบางประการของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันโดยการรับส่งข้อมูลปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว มีความน่าเชื่อถือสูงและมีความล่าช้าต่ำมาก อีกทั้งสามารถรับส่งข้อมูลในขณะเคลื่อนที่ได้ดีขึ้น และสามารถเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์จำนวนมากพร้อมกันได้ 5G จึงเป็นเทคโนโลยีแห่งความหวังที่จะทำให้โลกที่เคยเห็นเพียงแค่ในนิยายวิทยาศาสตร์ขยับเข้าใกล้โลกแห่งความเป็นจริงได้ไม่ยากนัก โดยศักยภาพเหล่านี้นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้บริการที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังจะเอื้อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการบริการใหม่ๆ ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ รายงานจากสำนักงาน กสทช.คาดว่า 5G จะสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยปี 2563 และจะใช้งานอย่างแพร่หลายภายใน 15 ปี ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศไทยปี 2578 มีผลประโยชน์โดยรวม 2.3 ล้านล้านบาท ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิต ที่ช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิต ในการนำเครื่องจักรและเซ็นเซอร์ มาใช้แทนแรงงาน มูลค่า 634,000 ล้านบาท

ถัดมาคือ ภาคโลจิสติกส์ สำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหนะด้วยกันเอง และเชื่อมต่อระหว่างยานพาหนะและระบบควบคุมการจราจร ที่ 124,000 ล้านบาท

ภาคการเกษตร ที่ใช้ในการวิเคราะห์ ดิน น้ำ และทรัพยากรต่างๆ รวมถึงการจัดการผลผลิตและการขาย มูลค่า 96,000 ล้านบาท

และภาคสาธารณสุข ในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่คาดว่า ในปี 2565 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทำให้การเดินทางมาพบแพทย์ลดลง 13 ล้านครั้งต่อปี ทำให้ค่าสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจลดลงอย่างน้อย 38,000 ล้านบาทต่อปี

ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย แต่เมื่อมี 5G เชื่อว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้านการศึกษา, ด้านสาธารณสุข และด้านสวัสดิการสังคม และมีพัฒนาการทุกด้านที่ดีขึ้น โดยจะช่วยส่งเสริมการมีงานทำ พัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทยให้เป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้ประชาชนมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ‘สมาคมจีเอสเอ็ม’ ยังระบุว่า ปัจจุบันมี 26 ประเทศที่เริ่มเปิดให้บริการและติดตั้งสถานีฐาน 5G แล้ว โดยในกลุ่มประเทศดังกล่าว มีขั้นตอนการจัดสรรคลื่นความถี่แบบให้เปล่า ทำให้กระบวนการในการขับเคลื่อน 5G มีความกระชับขึ้น และภายในปี 2562 จะมีการติดตั้งสถานีฐาน 5G แล้วกว่า 42 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีการติดตั้งสถานีฐาน 5G แล้วกว่า 10,000 แห่ง และคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2563 จะติดตั้งสถานีฐานรวม 100,000 แห่ง ขณะที่ญี่ปุ่นมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อรองรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563

สำหรับประเทศไทย กำหนดว่าภายในปี 2562 จะได้ข้อสรุปเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยเบื้องต้นมีวิธีการอนุญาตรูปแบบเดียว คือ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ (เนชั่นไวด์) และเป็นการจัดการประมูลล่วงหน้า ในรูปแบบการประมูลหลายย่านความถี่พร้อมกัน (มัลติแบนด์) ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1800, 3500 เมกะเฮิรตซ์ จะจัดการประมูลลำดับถัดไป

แต่จากการรับฟังความคิดเห็นของโอเปอเรเตอร์ (ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่) พบว่าต้องการให้ กสทช.จัดการประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ก่อน เพราะมองว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ยังไม่สามารถรองรับ 5G ได้ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดให้มีการประมูล ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ เป็นย่านคลื่นความถี่สูง ที่ต้องมีการใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ฉะนั้น การจัดการประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ก่อน จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์ประหยัดต้นทุน ซึ่งเรื่องนี้ กสทช. อยู่ระหว่างการพิจารณา

ทั้งนี้ จากการรายงานที่ สำนักงาน กสทช. ทำการสำรวจ พบว่าราคาของใบอนุญาต 5G หากมีการเปิดประมูลนั้น ในราคา 100 เมกะเฮิรตซ์ จะมีราคาเท่ากับ 40% ของราคาใบอนุญาตในระบบ 4G ที่ประมูลจำนวน 20 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งก็ทำให้ทราบว่า ราคาของใบอนุญาต 5G ที่มีการประมูลในต่างประเทศไม่ได้มีราคาแพงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม Roadmap 5G จะมีการขยับแผนการขับเคลื่อนประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่ 5G ขึ้นมาให้เร็วขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดการประมูล เคาะราคาได้ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2563 ซึ่งหากเสร็จสิ้นตามที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้ในเดือนกุมภาพนธ์ 2563 โอเปอเรเตอร์จะสามารถทยอยติดตั้งสถานีฐาน เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเฉพาะภาคการผลิตในเดือนตุลาคม 2563 จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2563 หรือเดือนมกราคม 2564 โดยอาจมีเงื่อนไขให้ลงทุนไปก่อน โดยโอเปอเรเตอร์ไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตตั้งแต่ปีแรก ส่วนการเปิดให้บริการกับประชาชนทั้งประเทศจะเกิดในปี 2565

ดังนั้น ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะต้องได้ข้อสรุปการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมด โดยการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ช่วงความถี่ 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันอยู่ในการถือครองของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการในดาวเทียมไทยคม 4 และ 5 จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 11 กันยายน 2564 ทำให้คลื่นความถี่จะพร้อมใช้งานได้หลังจากนั้น และไทยคม จะต้องย้ายไปใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 3700-4200 เมกะเฮิรตซ์แทน เพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ

“การผลักดันการขับเคลื่อน 5G เป็นความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และเป็นหน่วยงานสำคัญในการผลักดันนโยบายที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ในการเสวนา “Roadmap 5 G ดันไทยนำ ASEAN” ยังมีผู้มาให้ทรรศนะที่หลากหลาย อาทิ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิกาการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายรีวิน เพทายบรรลือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image