‘พุทธิพงษ์’ เดินหน้า ดันไทย-ไม่ตกขบวน 5จี

วันนี้มีการพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในโลกของการสื่อสารไร้สายในอนาคตอันใกล้ คือ เทคโนโลยี 5G คาดว่าจะเริ่มต้นใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวางในปี 2563
“มติชน” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ให้มุมมองไว้ดังนี้

เทคโนโลยี 5G มีคุณสมบัติหลัก ได้แก่ 1.การใช้งานในลักษณะที่ต้องการการส่งข้อมูลความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที ซึ่งการใช้งานลักษณะนี้ตอบสนองความต้องการการส่ง และรับข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อยๆ

2.การใช้งานที่มีการเชื่อมต่อของอุปกรณ์จำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน โดยมีปริมาณมากถึงระดับล้านอุปกรณ์ต่อตารางกิโลเมตร โดยการส่งข้อมูลของอุปกรณ์ในการใช้งานลักษณะนี้ จะเป็นการส่งข้อมูลปริมาณน้อยๆ ไม่ต้องการความเร็วสูง หรือความหน่วงเวลาต่ำ อุปกรณ์โดยทั่วไปมีราคาถูก และมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่มากกว่าอุปกรณ์ทั่วไป ความสามารถนี้ทำให้ระบบ 5G เหมาะสมกับการทำงานของอุปกรณ์จำพวกอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที)

และ 3.การใช้งานที่ต้องการความสามารถในการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมาก รวมทั้งมีความหน่วงเวลา หรือความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำในระดับ 1 มิลลิวินาที (ระบบ 4G ในปัจจุบันรองรับความหน่วงเวลาในระดับ 10 มิลลิวินาที) ความสามารถนี้ทำให้ระบบ 5G เหมาะกับการใช้งานระบบที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน หรือการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

Advertisement

และด้วยศักยภาพที่มากขึ้นในทุกด้านของระบบ 5G จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้ในหลายภาคส่วน อาทิ 1.ภาคการผลิต 5G จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 จะมีบทบาทอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการผลิต ในยุคเริ่มแรกอาจใช้การเชื่อมต่ออุปกรณ์เครื่องจักรผ่านสายแลน แม้มีความเสถียรแต่ต้องยอมรับว่าการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบมีสายนั้นมีความยืดหยุ่นต่ำ ทำให้เกิดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อปรับสายการผลิตสำหรับผลิตสินค้าใหม่ แต่ภายใต้เทคโนโลยี 5G การสื่อสารแบบไร้สายที่มีประสิทธิภาพสูงจะทำให้การโอนย้ายเครื่องจักรเป็นไปได้ง่ายและทำงานได้โดยอัตโนมัติ อุปกรณ์เครื่องจักรใดไม่สามารถเชื่อมต่อด้วยสายได้ก็จะถูกเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบด้วยเทคโนโลยีแบบไร้สาย เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์ในตู้คอนเทนเนอร์ อุปกรณ์เซ็นเซอร์เหล่านี้จะช่วยในการตรวจสอบและควบคุม รวมถึงรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการจัดการการผลิตได้อย่างอัตโนมัติ

2.ภาคสาธารณสุข สามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพอย่างละเอียด เช่น สัญญาณชีพ ความดันโลหิต แล้วทำการประมวลผลและแสดงผล การวินิจฉัย เพื่อช่วยให้สามารถติดตามอาการผู้ป่วยตลอดวันแม้บุคลากรทางการแพทย์จะไม่ได้อยู่เฝ้าสังเกตอาการตลอดเวลา ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้วางแผนการรักษาให้ได้ผลแม่นยำมากยิ่งขึ้น หรือผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น ปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้แล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้ในระดับบุคคลหรือในระดับโรงพยาบาลเฉพาะกลุ่ม

3.การคมนาคมขนส่ง เทคโนโลยีที่ช่วยในการขับขี่ยานพาหนะถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการประยุกต์ใช้ไอโอทีกับการคมนาคมขนส่ง อาทิ รถยนต์ไร้คนขับ การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหนะด้วยกันเอง และเชื่อมต่อระหว่างยานพาหนะและระบบควบคุมการจราจร อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ได้นั้นจะต้องมีเทคโนโลยีเข้ามารองรับการเชื่อมต่อเซ็นเซอร์และอุปกรณ์จำนวนมาก สามารถรับส่งข้อมูลในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะในบริเวณชุมชนเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง ระบบการสื่อสารต้องมีความน่าเชื่อถือสูง และมีความหน่วงเวลาต่ำ เพื่อให้รถยนต์สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์บนท้องถนนได้ทันท่วงทีปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ และสามารถเชื่อมต่อถึงกันแม้ในพื้นที่ที่อยู่นอกโครงข่าย
อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปถึงการจัดการจราจรเพื่อแบ่งเบาปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาที่มีการจราจรคับคั่ง นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในยานพาหนะ

Advertisement

ประเภทอื่นๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูง รถโดยสารสาธารณะ และรถแท็กซี่ สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ในหลายด้าน โดยเฉพาะศักยภาพในการรับส่งข้อมูลในขณะเคลื่อนที่

4.สาธารณูปโภค เนื่องจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และมิเตอร์อัจฉริยะ ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้าโดยอาศัยเทคโนโลยีไอโอทีในปัจจุบันได้นำไปใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานใหญ่ๆ แล้ว เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักร และโครงการนำร่องโดยการไฟฟ้าส่วน ภูมิภาคในเขตเมืองพัทยา เป็นต้น

สำหรับกรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทางกระทรวงได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการรขับเคลื่อน 5G ระดับชาติ และหากมีโอกาสจะพยายามหารือกับนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการผลักดันการขับเคลื่อน 5G ให้เป็นวาระแห่งชาติ อาจมีการเสนอรายละเอียดทั้งในเรื่องรูปแบบ โครงสร้าง รวมถึงผลสัมฤทธิ์ตามมา หลังจากผลักดันการขับเคลื่อน 5G ให้เป็นวาระแห่งชาติจะเป็นไปในทิศทางใด อาทิ จะทำให้การวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับรอง 5G รวดเร็วขึ้น จะช่วยดึงดูดนักลงทุน และไม่เกิดการย้ายฐานการผลิต รวมถึงจะกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ ตื่นตัวในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น

การผลักดันการขับเคลื่อน 5G ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) มีส่วนสำคัญอย่างมาก แต่ปัจจุบันต้องประสบปัญหาเรื่องการลงทุนในระบบ 3G และ 4G ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้โอเปอเรเตอร์มีความเชื่อมั่น และมีความสนใจลงทุน ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยจะล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและขับเคลื่อน 5G อย่างมาก

“เชื่อว่าการจัดการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป กสทช. จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประมูล ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนให้ 5G เกิดขึ้น และไม่ทำให้ประเทศไทยต้องตกขบวน แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะหากรีบร้อนที่จะก้าวสู่ 5G เกินไปไม่เกิดประโยชน์ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานไม่ดีเท่าที่ควร”
รมว.ดีอีเอสกล่าวในตอนท้ายอีกว่า จากนี้จะมีการหารือร่วมกับ กสทช. เป็นระยะ เพื่อให้การผลักดันการขับเคลื่อน 5G ของทั้งกระทรวงดีอีเอส และ กสทช. เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลายคนอาจ

มองว่าการดำเนินการทดลองทดสอบ 5G ของทั้งสองหน่วยงานมีความซ้ำซ้อนกัน ขอยืนยันไม่ซ้ำซ้อนกันแน่นอน เพราะมีเป้าหมายในการทดลองทดสอบที่ต่างกัน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ ขั้นตอน ที่ทั้งสองหน่วยงานมองว่าเหมาะสม และจะช่วยทำให้การขับเคลื่อน 5G เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น

การพัฒนาเข้าสู่ยุค 5G ถือว่าจะสร้างประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องด้วยคุณสมบัติหลัก 3 ประการ ฉะนั้น หากประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ได้ ก็จะสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image