‘เศรษฐพงค์’ หนุนรุ่นใหม่ ร่วมกก.ลุย5G

ความพร้อมของเมืองไทยที่จะก้าวไปสู่ยุค 5G ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ ช่วยยกระดับอุตสาหกรรม และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายยิ่งขึ้นนั้น

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) และยังคงเฝ้าติดตามการทำงานของ กสทช.โดยตลอด มองว่าโรดแมปการขับเคลื่อนประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่ยุค 5G เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย อาทิ ย่านความถี่ที่เหมาะสมในระดับสากลและความเป็นไปได้ในด้านการใช้งานของประเทศไทย, ระยะเวลาการกำหนดแผนจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคม หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่สนใจสามารถเตรียมความพร้อม รวมถึงหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และรูปแบบใบอนุญาตที่มีความเหมาะสม

เนื่องด้วยคุณสมบัติของ 5G ได้แก่ การใช้งานในลักษณะบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที ซึ่งจะตอบสนองความต้องการ ในการส่งและรับข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้ง การใช้งานที่เป็นการเชื่อมต่อของอุปกรณ์จำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งอาจมากถึงระดับล้านอุปกรณ์ต่อตารางกิโลเมตร และมีการส่งข้อมูลระหว่างกันในปริมาณน้อยๆ จึงไม่ต้องการความเร็วสูง ทำให้อุปกรณ์มีราคาถูกและมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่นานกว่าอุปกรณ์ทั่วไป เช่น อุปกรณ์อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) และการใช้งานในลักษณะที่ต้องการความสามารถในการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมาก รวมทั้งมีความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำในระดับ 1 มิลลิวินาที จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในระบบที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การแพทย์ทางไกล และการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

“จะเห็นได้ว่า 5G ยิ่งเกิดเร็วเท่าไร ประโยชน์ก็จะเกิดกับประชาชนมากและเร็วเท่านั้น เพราะ 5G มีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะที่ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน จึงต้องอาศัยระบบอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงเป็นส่วนสำคัญในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้ง 5G ยังช่วยผลักดันด้านนโยบายการศึกษา และยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพราะ 5G จะแฝงตัวอยู่ในทุกส่วนของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัว ภาคการผลิตมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้”

Advertisement

และเพื่อให้บริการ 5G ในแต่ละลักษณะมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องใช้ย่านคลื่นความถี่กลาง (ซีแบนด์) อาทิ คลื่นความถี่ย่าน 2600, 3500 เมกะเฮิรตซ์ ไปจนถึงย่านคลื่นความถี่สูง (ไฮแบนด์) อย่าง 28 กิกะเฮิรตซ์ เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่ในมาตรฐานสากล ที่ทั่วโลกกำหนดให้ใช้เป็นคลื่นความถี่หลักที่จะใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เป็นคลื่นความถี่ที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้กับเทคโนโลยี 5G ตามที่องค์กรระหว่างประเทศ อย่างสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) รวมไปถึงสมาคมผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมระดับโลก (จีเอสเอ็มเอ) ได้ทำการศึกษาและกำหนดมาตรฐานของ 5G ไว้ในเบื้องต้น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่สมบูรณ์ในเร็วๆ นี้

ขณะที่คลื่นความถี่ที่ในระดับสากลกำหนดให้เป็นย่านความถี่สำหรับให้บริการ 5G แต่ประเทศไทยยังมีการใช้งานในกิจการอื่น โดยเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่อยู่ในการครอบครองของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการในกิจการดาวเทียม ดังนั้น กสทช. จึงเตรียมการที่จะเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ช่วงความถี่ 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ โดยให้ย้ายไปใช้งานช่วงคลื่นความถี่ย่าน 3700-4200 เมกะเฮิรตซ์แทน

และเห็นด้วยที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เห็นชอบ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน ตามที่ กสทช.เสนอ และรายงานผลให้นายกรัฐมนตรีทราบทันที

Advertisement

ทั้งนี้ มองว่าคณะกรรมการชุดนี้ ควรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้แทนจากแต่ละกระทรวงเท่านั้น เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค, เทคโนโลยี, เศรษฐศาสตร์ใหม่ รวมถึงด้านการเงินการธนาคาร และรูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะธุรกิจรูปแบบดั้งเดิมกำลังจะหายไป

อีกทั้งการอาศัยกรรมการที่เกิดขึ้นในยุค 1G, 2G หรือ 3G เพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่ยุค 5G ได้อย่างตรงจุด ดังนั้น จึงควรเปิดกว้างและมีความหลากหลาย ที่สำคัญต้องประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ เพื่อวางโรดแมปให้กับประเทศอย่างถูกทิศทาง

“เราไม่สามารถกำหนดทิศทางทั้งหมดของ 5G จากคนในอดีตได้ โดยคนรุ่นใหม่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนด เพื่อให้เกิดความหลากหลาย เพราะคิดว่า การมองโลกแบบเก่าและแบบใหม่ ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

โดยเชื่อว่า การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วนโดยเร็ว จะทำให้ประเทศไทยไม่เสียโอกาส ในการใช้ 5G มาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม ให้เท่าทันนานาอารยประเทศ เพราะที่ผ่านมามีงานศึกษาประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเริ่มวางโครงข่าย 5G พบว่า ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์ได้จัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 5G แล้ว ส่วนประเทศเมียนมา และลาว อยู่ระหว่างการเตรียมคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ บางส่วนในการจัดสรรเพื่อรองรับ 5G ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2563 ส่วนประเทศอื่นๆ มีแผนที่จะดำเนินให้มี 5G ใช้ภายในปี 2566

สำหรับประเทศไทย คาดว่าการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2562 ตามที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ระบุ

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวคิดว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ รวมทั้งมีการพิจารณาความพร้อมด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ต่างๆ ในการรองรับ ภายใต้ราคาที่ผู้ใช้งานสามารถจับต้องได้ เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย

ทั้งนี้ คาดว่า กสทช.จะมีการพิจารณาวิธีการอนุญาตเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ (เนชั่นไวด์) และใบอนุญาตแบบที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (สเปซิฟิก แอเรีย) เช่น ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่เปิดช่องให้สามารถดำเนินการ เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G ช่วยดึงเม็ดเงินในการลงทุน ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเติบโตยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้จากคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน จะเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับการวางแผนและเตรียมความพร้อม ในการรองรับ 5G ของประเทศไทย เพื่อทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มที่ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image