คิด เห็น share : ความเสี่ยงภัยแล้งปี 2563 หลังไทยผ่านฤดูฝนแล้ว : โดย สุโชติ ถิรวรรณรัตน์

คิด เห็น share : ความเสี่ยงภัยแล้งปี 2563 หลังไทยผ่านฤดูฝนแล้ว : โดย สุโชติ ถิรวรรณรัตน์

คิด เห็น share : ความเสี่ยงภัยแล้งปี 2563 หลังไทยผ่านฤดูฝนแล้ว : โดย สุโชติ ถิรวรรณรัตน์

สวัสดีครับ คอลัมน์ “คิด เห็น แชร์” วันนี้ ผมขอเขียนถึงสถานการณ์ภัยแล้งปีหน้า 2563 ที่คนไทยต้องเตรียมรับมือ ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยออกประกาศว่า ประเทศไทยพ้นฤดูฝนและเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วในวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่กลับกลายเป็นว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆ ของไทยกลับมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และบางเขื่อนในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับในปีภัยแล้งครั้งรุนแรง ปี 2558-2559 เนื่องจากในปีนั้นเกิดปรากฏการณ์ “เอลนิโญ” (El Nino) โดยปรากฏการณ์เอลนิโญนั้น โดยปกติแล้วจะก่อให้เกิดภัยแล้งในประเทศไทย นั่นคือ ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ และอุณหภูมิสูงกว่าปกติ

แม้ในปัจจุบันเราจะพ้นความเสี่ยงการเกิดปรากฏการณ์ เอลนิโญ (El Nino) ไปแล้ว โดยล่าสุดจากข้อมูลการพยากรณ์วันที่ 15 ต.ค.2562 ของหน่วยงานที่สหรัฐ (Climate Prediction Center) และออสเตรเลีย (Bureau of Meteorology) สรุปตรงกันว่าภูมิอากาศของโลกในปัจจุบันนั้นเป็นสภาพปกติ (ENSO-Neutral) ซึ่งโดยปกติแล้วสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยไม่น่าจะเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563

อย่างไรก็ดี ฝนที่ตกต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลที่ผ่านมา (จนก่อให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่) กลับไม่ลงในพื้นที่กักเก็บน้ำสำคัญๆ บางแห่ง อย่างเช่น เขื่อนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผมได้เข้าไปดูข้อมูลปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนต่างๆ ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2562 ที่จัดทำโดย “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ” โดยเน้นไปที่เขื่อนขนาดใหญ่ของแต่ละภาค พบว่า

Advertisement

1.ภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักล่าสุด ต่ำกว่าในปี 2559 และที่สำคัญคือ มีระดับน้ำต่ำกว่า “ระดับควบคุมตอนล่าง” หรือ “Lower Rule Curve” ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ควบคุมต่ำสุดในอ่างเก็บน้ำ ของแต่ละเดือนที่กําหนดไว้เป็นมาตรฐานไม่ให้มีระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมตอนล่าง ทั้งนี้เพื่อสํารองปริมาตรน้ำที่อยู่ระหว่างระดับน้ำควบคุมตอนล่างกับระดับน้ำเก็บกักต่ำสุดไว้สําหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งที่มีการขาดแคลนน้ำ

2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักล่าสุดในระดับที่ต่ำคือ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก ต่ำกว่าในปี 2559 และต่ำกว่า ระดับควบคุมตอนล่าง แต่โชคดีที่เขื่อนหลักอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างเขื่อนลำปาว และ เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำเก็บกักในระดับที่สูงกว่าระดับควบคุมตอนล่าง ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งปี 2563

3.ภาคกลาง เขื่อนป่าสัก มีปริมาณน้ำเก็บกักต่ำกว่าปี 2559 และอยู่ใกล้ระดับควบคุมตอนล่าง เป็นต้น สำหรับเขื่อนหลักๆ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ส่วนใหญ่แล้วมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับควบคุมตอนล่าง

Advertisement

ดังนั้นโดยสรุปคือ พื้นที่เกษตรภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งสำหรับฤดูแล้งปีหน้า อย่างไรก็ดีในวิกฤตยังมีโอกาส แม้ภัยแล้งจะเป็นปัญหาที่สื่อต่างๆ มักจะหยิบยกมาเป็นประเด็นโดยเฉพาะด้านลบ แต่จากการศึกษาข้อมูลเชิงเศรษฐมิติโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (Cashin P et al., 2015, Fair Weather or Foul The Macroeconomic Effects of El Nino, IMF Working paper) พบประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกโดยทั่วไปที่มีต่อปรากฏการณ์ El Nino หรือ ภัยแล้ง ในประเทศไทย โดยพบว่า GDP ของไทยหลังจากเกิดปรากฏการณ์ El Nino หรือภัยแล้ง จะกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยผมประเมินว่าน่าจะเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นและส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อตามมา (ซึ่งมีผลมากกว่าปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากภัยแล้ง) ทำให้กำลังซื้อของประชาชนโดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดราคาข้าวเปลือกในตลาดโลก (ตลาดชิคาโก) ปรับขึ้นแล้วประมาณ 20% เทียบกับต้นปี 2562

ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถบริหารจัดการน้ำได้ดี จะทำให้เกษตรกรได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรที่อาจปรับขึ้น

แต่ในทางกลับกันหากภัยแล้งในบางพื้นที่รุนแรง อาจทำให้เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าเกษตรอย่างเต็มที่ จึงเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลที่ต้องวางแผนล่วงหน้ากันข้ามปีเลยทีเดียวสำหรับพืชเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้อย่าง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน หากพิจารณาจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆ ในพื้นที่น่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งปีหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image