‘ไซยะบุรี’ พร้อมจ่ายไฟฟ้าพลังน้ำ ไทย-ลาว ปลายตุลาฯ นี้

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ซีเค พาวเวอร์ ในฐานะผู้บริหารและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำ แห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ด้วยงบลงทุน 135,000 ล้านบาท (รวมงบลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม 19,400 ล้านบาท ) ล่าสุดได้ทำการทดสอบเครื่องผลิตไฟฟ้า ทั้ง 7 ชุดของ กฟผ.ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าครบถ้วนแล้ว โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีกำลังการผลิตติดตั้ง รวม 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้รับใบอนุญาติตามที่กฎหมายกำหนด และมีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ที่จะต่อเข้าระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้

ซึ่งคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 1,000 ล้านหน่วย ภายในปี 2562 มีสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้า กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 95 เปอร์เซ็นต์ และ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 5 เปอร์เซ็นต์ อัตราเฉลี่ย 2 บาท/กิโลวัตต์ ระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 31 ปี และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วย/ปี

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี จะดำเนินการเต็มรูปแบบ ในปี พ.ศ.2563 ประมาณการรับรู้รายได้ จากปริมาณน้ำเฉลี่ย 13,000-14,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement

นายธนวัฒน์กล่าวว่า เราได้มีการสำรวจรอบโครงการ ในช่วงต้น ปี พ.ศ.2550 และในปีเดียวกันได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงการพัฒนาโครงการ ซึ่งจะต้องผ่าน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ในการส่งข้อมูลผ่านรัฐบาลและกระจายข้อมูลให้ประเทศสมาชิกในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งรัฐบาลลาวมีข้อกังวลเรื่องปลาที่ว่ายทวนน้ำช่วงฤดูวางไข่ จึงลงทุนปรับแบบเพิ่มเติม โดยรัฐบาลลาวได้ให้ความช่วยเหลือชดเชยเงินส่วนที่เกินและยืดสัมทานออกไป จากนั้นเริ่มดำเนินการตั้งแต่ตุลาคม ปี พ.ศ.2552 ต่อมามีการเซ็นต์สัญญาก่อสร้างเมื่อตุลาคม พ.ศ.2553 โดยก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างทางบริษัทได้จัดสร้างหมู่บ้านให้เพื่อชดเชย เยียวยา ให้กับชาวบ้านพร้อมระบบไฟฟ้า การประปา โรงพยาบาล และโรงเรียน ครบถ้วนในปี พ.ศ.2554 โดยตุลาคมปีเดียวกันได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟผ. ระหว่างนั้นมีการพัฒนาแบบก่อสร้างและลงรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้ใช้งานได้จริง โดยมีการปรับถนน และตัดถนนเพิ่มเพื่อเข้าถึงโครงการ โดยรัฐวิสาหกิจลาวได้ใส่ระบบไฟ และน้ำประปาให้ จึงมีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยอยูบริเวณสองข้างทางมากขึ้น

จากนั้นเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 มีการผันน้ำในปี พ.ศ.2558 เนื่องจากเป็นโครงการฝายยกน้ำ จึงจำเป็นต้องยกน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทั้งนี้ได้ยกระดับเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งกรกฎาคมที่ผ่านมาไม่มีการยกระดับน้ำหรือกักน้ำอีกครั้งดังที่เป็นข่าว แต่เกิดจากภัยแล้ง

“เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เครื่องกำเนิดไฟฟ้าตัวที่ 7 ได้ทดสอบแล้วเสร็จ จึงเริ่มขายไฟ โดยจะมีการทดสอบทั้ง 7 เครื่องพร้อมกันว่าผ่านตามมาตรฐาน กฟผ.หรือไม่ เป็นการดับไฟอย่างกระชาก ซึ่งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าโรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ เมื่อทดสอบเสร็จจึงได้รับใบรับรอง และมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าพร้อมที่จะจำหน่ายไฟในวันที่ 29 ตุลาคมนี้” นายธนวัฒน์กล่าว

Advertisement
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image