สกู๊ปข่าวหน้า1: ศึกษา’สิงคโปร์’เริ่มลุย 5จี แล้ว

จนถึงขณะนี้ ในบรรดาประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยกัน

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่กำหนดขั้นตอนในทางปฏิบัติสำหรับการก้าวย่างเข้าสู่ยุคของการสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 หรือ 5จี ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว

เอส. อิสวารัน รัฐมนตรีกิจการโทรคมนาคมและสารสนเทศ ของสิงคโปร์ ประกาศเรื่องนี้ออกมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง

สิงคโปร์กำหนดทุกอย่างชัดเจนหมดแล้ว ตั้งแต่กำหนดเวลาเริ่มการออกใบอนุญาตและระยะเวลาของการให้บริการ 5จี เชิงพาณิชย์, รูปแบบการให้บริการเชิงพาณิชย์, วิธีการคัดสรรผู้ให้บริการ รวมไปถึงการกำหนดย่านความถี่ กับขนาดความถี่สำหรับการให้บริการ เหลือที่ไม่ชัดเจนอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ “คอร์เทคโนโลยี” ที่จะนำมาใช้ในยุค 5จี ว่าจะเป็นของค่ายไหน จะมีผู้นำตลาดโลกอย่าง “หัวเว่ย” รวมอยู่ด้วยหรือไม่

Advertisement

ทั้งหมดนั้นคือขั้นตอนในเชิงปฏิบัติที่จะนำไปสู่การให้บริการ 5จี เชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง ซึ่งสิงคโปร์กำหนดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2020 หรือปีหน้านี้

แล้วก็ชวนให้ศึกษาทำความเข้าใจเพื่อปรับใช้สำหรับก้าวเดินของไทยสู่ยุค 5จียุคได้เป็นอย่างดี

จากถ้อยแถลงของรัฐมนตรีอิสวารัน เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้กำหนดนโยบาย 5จี ของสิงคโปร์ให้ความสำคัญต่อทั้งการใช้ 5จี เพื่อพัฒนา

Advertisement

อุตสาหกรรมของประเทศ และการใช้ 5จี เพื่อพัฒนาการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย เพื่อให้ได้ความเร็วและปริมาณของข้อมูลเพิ่มมากขึ้นสำหรับการใช้งานทั่วไป

เพราะนอกจากอิสวารันจะยืนยันว่า 5จี คือ “กระดูกสันหลังของเศรษฐกิจดิจิทัล” ของสิงคโปร์แล้ว ยังกำหนดแบ่งใบอนุญาต 5จี ออกเป็น 2 ประเภทอย่างชัดเจนด้วยอีกต่างหาก

การให้ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 5จี ในหลายประเทศใช้วิธีการประมูล หรือออคชั่น ตัวอย่างเช่นในเยอรมนี เป็นต้น ได้เงินจากการประมูล 5จี รอบแรกไปราว 6,500 ล้านยูโร

สิงคโปร์กลับไม่ใช้วิธีการประมูล แต่ประกาศให้ผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) การสื่อสารไร้สายในประเทศ ที่ให้บริการกันอยู่ทั้ง 4 บริษัท “นำเสนอ” แผนการในทางปฏิบัติ 5จี ของตนเองต่อคณะกรรมการขององค์การเพื่อพัฒนาสื่อโทรคมนาคมและสารสนเทศ (ไอเอ็มดีเอ) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลคลื่นความถี่และกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ

สิงคโปร์มีโอเปอเรเตอร์อยู่ 4 ราย คือ สิงเทล (Singapore Telecommunications), สตาร์ฮับ (StarHub), เอ็มวัน (M1) และทีพีจีเทเลคอม (TPG Telecom) ทั้งหมดล้วน “ได้รับเชิญ” ให้นำเสนอแผนดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาคัดสรรผู้ได้รับใบอนุญาต 5จี

กำหนดให้ส่งแผนงานเชิงปฏิบัติการดังกล่าวได้ภายในวันที่ 21 มกราคม 2020 โดยจะมีการมอบใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 5จี กันในตอนกลางปี 2020

หลังจากนั้นจะเปิดให้ทำ “ประชาพิจารณ์” หรือที่ทางสิงคโปร์เรียกว่า “เป็นการหารือต่อสาธารณะ” เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีหน้าเป็นต้นไป

เครือข่าย 5จี ที่ตอบสนองต่อความต้องการ 2 รูปแบบคือ การใช้งานทั่วไป กับการใช้งานในเชิงธุรกิจของสิงคโปร์ ทำให้เกิดโครงข่าย 5จี 2 รูปแบบเกิดขึ้นคู่ขนานกันไปตั้งแต่แรกเริ่มในสิงคโปร์

นี่เป็นการผสมผสานการเริ่มต้นใช้งาน 5จี ในหลายๆ ประเทศเข้าด้วยกัน บางประเทศที่เห็นได้ชัดคือ สหรัฐอเมริกา เริ่มเครือข่าย 5จี ในย่านความถี่สูง

หรือที่รู้จักกันในวงการว่าเป็นย่านความถี่แบบมิลลิเมตรเวฟ ที่มีสปีดสูงสุด ความหน่วงหรือลาเทนซีต่ำสุดในบรรดาคลื่นความถี่ 5จี ทุกย่านความถี่ แต่พื้นที่ครอบคลุมจำกัดแคบมาก

ตัวอย่างเช่น สถานีฐาน 1 สถานี ยังไม่สามารถครอบคลุมอาคารสนามบาสเกตบอลในสหรัฐอเมริกา 1 สนามได้ทั่วถึงด้วยซ้ำไป

สหรัฐอเมริกากำลังเตรียมปล่อยย่านความถี่ มิดเวฟ ออกมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

เครือข่ายย่านความถี่สูงนี้ เรียกกันว่า “สแตนอโลน เน็ตเวิร์ก” ต้นทุนสร้างเครือข่ายสูง เหมาะสำหรับการใช้งานในโรงงานการผลิต โรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องการระบบออโตเมชั่นที่ต้องอาศัยการส่งผ่านข้อมูลสูง เร็ว และความหน่วงต่ำ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีกำลังพอที่จะจ่ายค่าบริการสูงๆ ได้

ในขณะที่ชาติในเอเชียส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้เครือข่าย 5จี ในย่านความถี่ปานกลาง หรือมิดเวฟ ที่ให้สปีดรองลงมา ระดับความเร็วและปริมาณการส่งผ่านข้อมูลต่ำลง ความหน่วงต่ำแต่สู้ย่านความถี่มิลลิเมตรเวฟไม่ได้ แต่สถานีฐานในเครือข่ายที่ย่านความถี่นี้ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ทั้งหมด ยังคงสามารถใช้ร่วมกับเครือข่ายเดิมของยุค 4จี ได้ แต่ครอบคลุมพื้นที่บริการได้กว้างกว่า และรองรับการให้บริการได้ทั้ง 4จี และ 5จี ด้วยการปรับปรุงทางเทคโนโลยี ทำให้ต้นทุนต่ำลงกว่าแบบแรก สามารถให้บริการกับบุคคลทั่วไปที่นิยมการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนได้ดี

เครือข่ายแบบนี้เรียกกันว่า “น็อน สแตนอโลน เน็ตเวิร์ก”

สิงคโปร์จะคัดเลือกผู้ให้บริการ 2 ราย เป็นผู้ดำเนินการ “5จี สแตนอโลน เน็ตเวิร์ก” อีก 2 ราย เป็นผู้ให้บริการ “5จี น็อน สแตนอโลน เน็ตเวิร์ก”

น็อน สแตนอโลน เน็ตเวิร์ก ที่ให้บริการทั่วไป จำเป็นต้องจ่ายค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 5จี ที่ย่านความถี่ 3.5 GHz ขนาดคลื่นความถี่ 100 MHz อย่างน้อย 55 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ บวกกับค่าธรรมเนียมการใช้ใบอนุญาตรายปีอีกจำนวนหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้งาน
สแตนอโลน เน็ตเวิร์ก ที่ให้บริการแก่หน่วยงานธุรกิจ จะได้รับอนุญาตให้สร้างเครือข่ายที่ย่านความถี่ 26 GHz และ 28 GHz โดยต้องชำระค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 55 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แต่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ใบอนุญาตรายปี

เงื่อนไขสำคัญก็คือ สแตนอโลน เน็ตเวิร์ก ต้องขยายให้ครอบคลุมครึ่งหนึ่งของสิงคโปร์ภายในสิ้นปี 2022

การขยายเครือข่าย 5จี ที่ย่านความถี่สูงดังกล่าว คือส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์ ซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เองว่า ได้กันเงินจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เอาไว้เป็นการเฉพาะ

เพื่อพัฒนาสิ่งที่สิงคโปร์เรียกว่า “ระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม 5จี ที่เปิดกว้างและทุกคนมีส่วนร่วม” ขึ้นให้ได้นั่นเอง

นั่นคือส่วนเริ่มต้นของแผนปฏิบัติการ 5จี ของสิงคโปร์ ที่กำหนดไว้เป็นโรดแมปในระยะยาวไว้แล้ว

ตัวอย่างเช่นในตอนนี้ ผู้ให้บริการทั้ง 4 รายของประเทศ รู้แล้วว่า รัฐบาลกำหนดจะออกใบอนุญาตให้ใช้ความถี่เพิ่มเติมได้อีกครั้ง ถ้าไม่เป็นในปี 2024 ก็เป็นปี 2025

เพื่อให้แผนปฏิบัติการ 5จี รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและมั่นคงตามแบบฉบับของสิงคโปร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image